Categories
ธุรกิจ

CEO คือ ?

CEO หรือ นักบริหารสูงสุดขององค์กร คือ ผู้ที่รู้ลึกรู้จริงใน สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจที่ตนดูแล คลุกคลีอยู่กับผู้บริหารและพนักงานภายในบริษัท หยั่งรู้ทุกข์-สุขของผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นผู้กำหนดทิศทาง และกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ของบริษัทโดยมอบหมายให้ กรรมการผู้จัดการ นำไปปฏิบัติในการบริหารงานประจำวัน มีหน้าที่นำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงแค่เป็นบริษัทที่ทำกำไรสูงสุด แต่เป็นผู้ที่สร้างบริษัทให้กลายเป็นสถาบันที่ทรงคุณค่าในสังคม — ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์

ดีแทค’ สร้างวัฒนธรรมพร้อมเสี่ยง นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

การเป็น CEO ในปัจจุบันต่างจาก 10 ปีก่อนมาก จากการสำรวจของตัวเองพบว่า การเป็น CEO คือการที่ต้องทำให้ทุกคนเห็นด้วยกับความคิดของเรา ด้วยการอธิบายหรือชี้แจงความคิด ไม่ใช่การออกคำสั่ง คนที่นิยมออกคำสั่ง ก็ไม่ใช่ CEO แท้จริง

หากเปรียบเทียบให้เข้ากระแสบอลโลกมี 3 ประการ ที่โค้ชกีฬาใช้ในการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง ที่นำมาปรับใช้ ด้วยการเปรียบ CEO เป็นโค้ช คือ

1.ความสามารถในการบริหาร เลือกสรรผู้เล่นมาร่วมทีม

2.ต้องชี้เป้าที่ถูกต้อง แม่นยำ

3.ทำให้ผู้เล่นมีความสุขในการเล่น

CEO คือตำแหน่งที่ต้องวางให้พร้อมรับความเสี่ยง ขณะเดียวกันลูกน้องก็ต้องพร้อมที่จะรับความเสี่ยงด้วย ต้องการให้ลูกน้องรู้สึกไม่มั่นคง ทุกคนต้องรู้สึกตลอดเวลาว่ารับความเสี่ยงได้ เป็นวัฒนธรรมแห่งความเสี่ยง (Risk Culture) ต้องกล้าที่จะเสี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ๆ ไม่เคยไป ในส่วนงานที่ไม่เคยทำ ซึ่งแม้จะผิดพลาด แต่ก็เป็นประสบการณ์ ที่จะสามารถเรียนรู้ได้จากความผิดพลาดนั้นๆ

ที่สำคัญคือ ต้องสามารถบริหารและแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้จากการเรียนรู้ ทำให้ดีแทคจะโยกย้ายตำแหน่งตลอดเวลา เพื่อให้มีการเรียนรู้ทั้งในเรื่องการเตรียมพร้อมรับความเสี่ยง และวัฒนธรรมการทำงาน

เป้าหมายของการเป็น CEO ในปัจจุบัน ไม่ใช่มุ่งเน้นไปที่การหาความสมบูรณ์แบบ แต่เป็นเรื่องของ “ทัศนคติ” (Attitude) เป็นสิ่งจำเป็น เราต้องสร้างทัศนคติที่ดีให้กับพนักงานในบริษัท ทำให้เราต้องมองใบสมัคร หรือประกาศแบบเจาะจงลงในประกาศรับสมัครงานเพื่อที่จะดูคุณสมบัติต่างๆ ที่เราต้องการ ไม่ใช่แค่ทักษะ ผลการเรียน ประสบการณ์การทำงาน แต่ต้องมีบุคลิกลักษณะที่เหมาะสมที่จะส่งผลถึงทัศนคติของคนๆ นั้นอีกด้วย

สิ่งที่ CEO จำเป็นต้องทำ คือการใช้เวลาในการสรรหาคนเข้าร่วมในองค์กร ดังเช่นตัวเขาที่เป็นผู้คัดเลือกพนักงานทุกคนเอง เพื่อสร้างความมั่นใจว่า เป็นคนที่มีบุคลิกลักษณะและทัศนคติที่ถูกต้อง แล้วจึงเสริมในเรื่องของทักษะที่จำเป็นภายหลัง

ห่วงเลือดใหม่ CEO สร้างไม่ทัน นายกฤษณัน งามผาติพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จำกัด (มหาชน)

CEO มี 2 แบบคือ CEO จากระบบครอบครัว สร้างทุกอย่างด้วยตนเองและ CEO ที่เป็นมืออาชีพ CEO ไม่ใช่จะประสบความสำเร็จตลอดเวลา CEO ทั้ง 2 แบบ มีทั้งจุดดีและจุดด้อย CEO แบบคนไทยจะเด่นในเรื่องของคอนเน็กชัน แต่ก็จะด้อยในเรื่องของการบริหารจัดการ ขณะที่ CEO แบบมืออาชีพจะเก่งเรื่องของการดำเนินงาน แต่เรื่องการจัดวางความสัมพันธ์ยังมีปัญหา

การเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกัน ขององค์กรต่างชาติที่เคยอยู่มา (เช่นที่โนเกีย) จะหลอมให้ทำงานเร็ว เมื่อมาทำงานบริษัทแบบไทยก็จะรู้สึกอึดอัด เพราะมีวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่าง มีสัมมาคารวะ เกรงใจ จนบางครั้งหาจุดจบไม่ลง ซึ่งสิ่งที่ต้องการคือ เรื่องการบริหารจัดการ และคอนเน็กชัน ที่เป็นการรวมข้อดีของ CEO ทั้งสองแบบไว้ บุคลากรนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง แต่ต้องสามารถทำงานได้ดีโดยเฉพาะทำงานร่วมกับคนอื่น

แต่ปัญหาสำคัญที่กังวลคือ ไม่สามารถหาตัวตายตัวแทน หรือเบอร์รองๆ มาได้ เพราะช่องว่างระหว่างผู้นำหรือผู้บริหารกับพนักงานกว้างเกินไป หากผู้บริหารต้องเกษียณหรือออกไปจากองค์กร ก็ยากที่ตะหาใครมาแทน เพราะการถ่ายทอดงานไปยังคนรุ่นใหม่ไปได้ไม่ถึง

CEO จำเป็นต้องคำนึงถึง 3 ข้อหลักคือ

1.Operation การดูแลองค์กร

2.Financial Model ปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ในไทย เนื่องจากโลกเปิดกว้าง ข่าวสารไปไกล การแข่งขันก็เช่นกัน ทำให้ตอนนี้เกิดการล่าอาณานิคมด้วยทุน

3.Investment ถือเป็นหน้าที่ที่แท้จริงของ CEO ที่จะต้องมีวิสัยทัศน์ในเรื่องของการลงทุนว่า ทำไปแล้วคุ้มหรือไม่ หากผิดพลาดจะเกิดผลเสียเช่นไร

บทบาทหน้าที่ของ CEO เหมือนกับการตลาดที่มีทั้งการสื่อสารและการวางแผนกลยุทธ์ ซึ่ง CEO ต้องรู้ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง จะรู้อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ทำให้ CEO ต้องศึกษา เรียนรู้ตลอดเวลา เพราะมีความท้าทายเข้ามาตลอด ที่สำคัญคือ ต้องคิดว่าจะทำอะไรให้องค์กรขับเคลื่อน จะบริหารคนอย่างไรให้ตามเราได้ทัน

ขณะเดียวกันก็มองว่า ปัจจุบันเด็กยุคใหม่มีเวทีประกวดเฉพาะในแง่ของบันเทิง แต่ขาดเวทีสำหรับการเป็น CEO ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเงิน การบริหาร การโฆษณา ที่จะเป็นการปูทางไปสู่การเป็นเลือดใหม่ในวงการบริหาร

ที่สำคัญ หากเราไม่รีบสร้างบรรดาเลือดใหม่ เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ แต่ไม่มีใครมานั่งในตำแหน่งนั้นได้ ก็จำเป็นที่จะต้องหามืออาชีพจากต่างประเทศเข้ามา

CEO ยุคใหม่ไม่ยึดติด ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน)

ประสบการณ์ในการทำงานตลอด 20 ปีที่ผ่านมาก่อนก้าวขึ้นเป็น CEO ใช้เวลา 4 ปี ในบริษัทขนาดใหญ่ของไทย เรียนรู้จักระบบบริหารงานที่ดี และใช้เวลาอีก 4 ปีกับบริษัทข้ามชาติ ทำให้เรียนรู้เรื่องธุรกิจ ที่เหลืออีก 12 ปี ใช้เวลาในการพัฒนาและสร้างองค์กรขึ้นมาเป็นช่วงการก่อตั้งและเริ่มธุรกิจจากศูนย์จนในวันนี้เป็นองค์กรขนาด 1,000 คน

หน้าที่ของ CEO ต้องทำหน้าที่ทุกอย่างตั้งแต่การซื้อเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงการรับสมัครบุคลากร แต่เมื่อเอเซียพลัส มีการเติบโตจากการควบรวมกิจการทำให้ CEO มีทำหน้าที่ 3 ด้าน ได้แก่ ต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร ตัวอย่างในเอเซียพลัสจะมีหน่วยธุรกิจเพิ่มขึ้นใหม่ หน่วย “Wealth Management” ทำหน้าที่เหมือน Private Banking ในต่างประเทศ ให้คำแนะนำแก่ตระกูลนักธุรกิจในทุกแง่มุมตั้งแต่การลงทุนไปจนถึงการใช้ชีวิต ซึ่งแตกต่างจากหน่วยที่ปรึกษาทางด้านการลงทุนที่มีอยู่

หน้าที่ประการที่ 2 คือต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่อยู่นอกองค์กร เช่น ต้องไปฟังสัมมนาด้านเศรษฐกิจและความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ เนื่องจากทุกวันนี้มีนักธุรกิจแบบข้ามชาติเข้ามาแข่งขันกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายนอกขององค์กรและประเทศ เพื่อสร้างความพร้อมในการแข่งขัน

ประการที่ 3 ต้องทำหน้าที่พัฒนาและสร้างคนขึ้นมาทดแทนคนเก่าที่มีอายุเพิ่มขึ้น ทำหน้าที่วิเคราะห์และดูการทำงานของบุคลากรในองค์กร ต้องมีการอบรมและเพิ่มทักษะในการทำงาน อาทิ อบรมมารยาทในการเข้าหาลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจระดับแนวหน้า ต้องรู้ในศาสตร์รอบด้านเพราะต้องให้คำแนะนำแบบรอบด้าน ต้องรู้และศึกษาศิลปะหรือรู้จักธุรกิจในแนวลึก

CEO ในอุดมคติจะต้องทำหน้าที่ผสมผสานองค์กรให้ขับเคลื่อนได้อย่างกลมกลืน ต้องผสมรวมเอาคนและการทำงานในองค์กรรวมถึงนวัตกรรมด้านต่างๆ หลอมรวมเป็นหนึ่ง บางครั้งองค์กรไม่ต้องการคนที่เก่งสุดเสมอไปแต่ต้องการคนที่ปรับตัวเข้ากับคนได้

ขอฝากข้อคิดสำหรับ CEO ในยุคนี้ว่าจะต้องเป็นคนที่ทำใจได้ว่าไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าของกิจการจนไม่อยากปล่อยให้คนอื่นๆ เข้ามาบริหารหรือเป็นเจ้าของกิจการนั้นๆ จะต้องไม่ยึดติดกับทรัพย์สินว่าเป็นของตนเอง จนละเลยที่จะเลือกใช้โอกาสนั้นขายออกไปในช่วงที่ธุรกิจกำลังรุ่งโรจน์

ตัวอย่างเช่น โออิชิ ที่เจ้าของเลือกขายให้กลุ่มไทยเบฟเวอเรจเพื่อสร้างกำไรกลับเข้ามา เป็นการตัดสินใจที่ถูกเพราะเป็นช่วงที่ธุรกิจอยู่ในจุดสูงสุด และผู้บริหารเดิมไม่คิดที่จะเก็บธุรกิจนั้นเอาไว้เอง ขณะที่ผู้ซื้อมองเห็นโอกาสพัฒนาต่อยอดธุรกิจนี้

แต่จุดที่อาจทำให้ธุรกิจไทยพัฒนาไปได้อีกขั้นคือการที่ CEO เปิดโอกาสให้ลูกน้องมีทางพัฒนากลายเป็นเถ้าแก่เองเนื่องจากภาวะของธุรกิจในวันนี้การแข่งขันสูง ทุกบริษัทล้วนต้องการลดต้นทุนในการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ดังนั้น วิธีหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนได้คือการเปิดทางให้ลูกน้องกลายเป็นเจ้าของธุรกิจเองเช่นเปิดทางให้ลุกน้องเก่าตั้งบริษัทจัดหาวัตถุดิบป้อนบริษัทแทนการจัดซื้อเอง วิธีนี้ทำให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายได้เพราะบริษัทใหม่นี้มีค่าใช้จ่ายต่ำทำให้คิดราคาได้ถูกกว่าจัดซื้อเอง ซึ่งเป็นการพัฒนาธุรกิจบนจากช่องทางการผลิตสินค้า

CEO ต้องเป็นนักฝัน พนักงานต้องมาก่อน นายปารเมศร์ รัชไชยบุญ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย

CEO บริษัทส่วนใหญ่จะคิดเรื่องเงิน เรื่องการเติบโตของธุรกิจ และต่อมาคือเรื่องพนักงาน ลูกค้า และสุดท้ายคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะรักษาลูกค้าให้อยู่ตลอดไปได้

การเป็น CEO ที่ดีนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องเป็นนักฝัน (Dreamer) ไม่ใช่จูงมือบังคับ ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดี กำหนดแนวทางในเรื่องการถึงเป้าหมาย ด้วยการ “ชี้แนะไม่ใช่เผด็จการ” เคยเจอ CEO นั่งเหงาอยู่ข้างบน และชอบแย่งบทบาทของลูกน้อง

ส่วนปัญหาปัจจุบันของ CEO คนไทย คือเป็นสังคมโนว์ฮู (Know Who) มากกว่าโนว์ฮาว (Know How) คือเน้นการใช้คอนเน็กชันมากกว่าการบริหารจัดการมีคำกล่าวของริชาร์ด เวอร์จิ้น แห่งกลุ่มเวอร์จิ้นที่บอกว่า “Employee Come First” คือพนักงานต้องมาก่อนนั้นรู้สึกชอบมาก เพราะการมีพนักงานที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีวิสัยทัศน์ที่ดี

ยิ่งถ้าทำด้วยใจจะทำให้ดีมาก ส่งผลให้ลูกค้ามีความสุข สินค้าขายได้ซึ่งทั้งหมดนี้มันขึ้นอยู่กับการให้ทิศทางของ CEOพนักงานองค์กรตอนนี้มีความสำคัญมาก เพราะปัจจุบันร้อยละ 80 ของพนักงานจะเข้ามาทำงานเพื่อหาประสบการณ์เป็นหลัก ซึ่งถือเป็นคนละเรื่องกับคนที่เข้ามาเพราะเป็นอาชีพ

สิ่งที่ขาดระหว่างพนักงานกับ CEO ขณะนี้คือ เรื่องความผูกพัน จริงๆ แล้วเป็นเรื่อง Com-mitmentและเรื่องสื่อสารภายในองค์กร ปัจจุบันพนักงานจะทราบข้อมูลข่าวสารขององค์กรจากสื่อภายนอกมากกว่า ดังนั้น “การสื่อสารภายในคือสิ่งที่สำคัญ”

การเป็น CEO ที่ดีนั้นควรจะเป็นลูกน้องมาก่อน มีอยู่มากที่เป็นแบบลูกหลานมาก่อน เมื่อมาเป็นใหญ่ก่อนเป็นลูกน้อง ฐานความรู้ค่อนข้างจะน้อย เคยอ่านบทความ CEO คนหนึ่งมานั่งทำงานจะประชุมกับพนักงาน 15-16 คน ซึ่งแต่ละคนมีอายุไม่ต่ำกว่า 58 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ศักยภาพของคนที่เป็นพนักงาน ในแทบทุกธุรกิจจะขาดเบอร์ 2 และเบอร์ 3 สาเหตุที่ไม่สร้างขึ้นมาเพราะกลัวว่าจะมาแย่งงานหรือสร้างแล้วก็กลัวว่าจะออกไปทำงานที่อื่น

ในฐานะที่เคยเป็นเด็กพนักงานมาก่อนที่จะมาเป็น CEO เคยได้รับโอกาส ดังนั้น สิ่งที่ CEO สมัยนี้ควรทำอีกอย่างคือการพิจารณาดูพนักงานที่เห็นว่ามีศักยภาพ และสนับสนุน และควรคิดแบบนอกกรอบ อย่าตกยุค ถ้าทำธุรกิจแล้วไม่มีความหลงใหล อย่าไปทำต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมาย และติดตามอยู่ตลอดเวลา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.