เมื่อวันพุธที่ 1 ตุลาคม 2557 ผมได้ไปร่วมงานของ True Incube งานนี้ด้วย ตอนที่คุณ Jeffrey Char พูด ผมนั่งฟังเพียงอย่างเดียวไม่ได้จดรายละเอียดไว้ เพียงแต่โน้ตจุดสำคัญเพื่อเก็บไว้ทบทวน เพราะมัวแต่เตรียมตัวขึ้น pitch ในช่วง Co-founder dating (ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนเพราะจำวันผิด มารู้ตัวตอน 15.30น. แล้ว ซึ่งงานจะเริ่ม 18.00น. แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ขึ้น pitch เพราะตอนนั้นพยายามขายไอเดียเพื่อชักชวนคุณ Art และคุณ Aun มาร่วมทีม) โชคดีที่ทาง blognone เอามาลงไว้ที่ https://www.blognone.com/node/61146 ผมเลยเอามาเก็บไว้ซะหน่อย เพื่อเก็บไว้ทบทวน
ในงานแถลงข่าวของ True Incube เมื่อวานนี้ มีพาร์ทเนอร์ร่วมจัดงานคือคุณ Jeffrey Char ซีอีโอของ J-Seed Ventures บริษัทลงทุนด้านเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น มาร่วมบรรยายด้วย
คุณ Jeffrey เป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์สูง เปิดบริษัทมาแล้ว 15 แห่ง ภายหลังผันตัวมาเป็นนักลงทุน และเดินสายบรรยายเรื่องผู้ประกอบการตามสถาบันการศึกษาทั่วโลก
หัวข้อการบรรยายของคุณ Jeffrey Char พูดเรื่อง “หลุมพราง 7 ประการของสตาร์ตอัพ” (7 Pitfalls That Can Kill Your Startup) น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการในบ้านเรา
คุณ Jeffrey บอกว่าสอนวิชาสตาร์ตอัพมาเยอะ เจอปัญหาที่ซ้ำๆ กัน เลยอยากนำเสนอประเด็นพวกนี้ให้สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ๆ ได้เรียนรู้ไว้ จะได้ไม่ทำพลาดซ้ำกันอีก
อย่างแรกสุดเลยคือสตาร์ตอัพมักคิดว่า “ไอเดีย” ของตัวเองเจ๋งมาก และหลงใหลในไอเดียของตัวเอง จนละเลยความเป็นจริงทางธุรกิจ ซึ่งคุณ Jeffrey แนะนำว่าควรเริ่มต้นจาก “ปัญหา” ไม่ใช่ “ไอเดีย” ให้ดูก่อนว่าเรื่องที่เราสนใจมีปัญหาอะไร แล้วค่อยหาวิธีแก้ปัญหานั้น
การเริ่มต้นที่ “ปัญหา” จะช่วยให้เราอยู่กับโลกความเป็นจริงมากขึ้น เพราะปัญหามีอยู่จริง (แค่ยังไม่ถูกแก้ไข) แต่ไอเดียนั้นไม่รู้เลยว่าจะใช้งานได้จริงหรือไม่
ประเด็นที่สองต่อเนื่องมาจากประเด็นแรก คือเรารีบลงมือสร้างผลิตภัณฑ์เร็วเกินไป กระบวนการที่ถูกต้องคือทดสอบ “ปัญหา” ก่อนว่ามันมีจริงหรือไม่ มันร้ายแรงแค่ไหน ข้อสันนิษฐานต่างๆ ของเราถูกต้องหรือไม่ จากนั้นค่อยลงมือสร้างผลิตภัณฑ์
หลุมพรางประการที่สามคือเรามัวแต่ไปจดจ่อกับการสร้าง “ผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์” ซุ่มทำอยู่นาน พอทำเสร็จแล้วพบว่าไม่มีใครสนใจเราเลย
กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องคือค่อยเป็นค่อยไป สร้างต้นแบบขั้นต่ำ (MVP หรือ minimum viable product) ขึ้นมาก่อน แล้วค่อยๆ รับฟังความเห็นจากลูกค้า ก่อนจะปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของเราไปเรื่อยๆ วิธีนี้จะช่วยให้เราอยู่กับโลกความเป็นจริงได้ดีขึ้น
ประการที่สี่ ระดมทุนเร็วเกินไป คุณ Jeffrey บอกว่าการได้เงินมาเร็วเกินไปทำให้เราใช้เงินเปลือง และ “สิ้นเปลืองความสัมพันธ์” (burn relations) ของเรากับคนที่ควรจะพึ่งพิงได้ไปอย่างที่ไม่สมควรจะเป็น
ทางแก้ปัญหาก็ให้กลับไปที่ข้อแรกคือ กลับไปโฟกัสที่ปัญหาก่อน ถ้ายังหาวิธีแก้ปัญหาไม่ได้จริง อย่าเพิ่งระดมทุน
หลุมพรางอย่างที่ห้า ขยายตัวเร็วเกินไป เป็นประเด็นที่ควบคู่ไปกับการระดมทุนเร็วเกินไป
คุณ Jeffrey เล่าประสบการณ์ว่าเขาเคยเปิดบริษัทแห่งหนึ่ง ตอนเดือนกุมภาพันธ์ยังไม่มีพนักงานเลย พอถึงเดือนธันวาคม มีพนักงานมากถึง 100 คน อัตราการเติบโตขนาดนี้คุมไม่ได้ สุดท้ายบริษัทนี้เจ๊ง
หลุมพรางอย่างที่หก วัฒนธรรมองค์กร
คุณ Jeffrey แนะนำให้สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีขึ้นมา เพราะจะมีประโยชน์มากในระยะยาว องค์กรที่มีวัฒนธรรมแข็งแรงจะมีขั้นตอนการตัดสินใจน้อย คนในองค์กรจะระลึกถึงวัฒนธรรมองค์กรเสมอแล้วตัดสินใจได้ว่าควรทำหรือไม่ควร ทำอะไร
เทคนิคการสร้างวัฒนธรรมองค์กรคือเลือกคำที่เราอยากให้เกิดเป็นค่านิยมของ องค์กรมาสัก 1-2 คำ แล้วพูดย้ำเรื่องนี้อยู่เสมอเพื่อให้คนทั้งองค์กรจดจำได้ ส่วนค่านิยมจะเป็นอะไรนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจ
หลุมพรางอย่างสุดท้าย จงสร้างทีมที่มีทักษะแตกต่างหลากหลาย เพราะการสร้างธุรกิจจำเป็นต้องใช้ทักษะหลายๆ อย่าง เราไม่ควรนำเพื่อนร่วมทีมที่มีทักษะประเภทเดียวกันมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง
คุณ Jeffrey แนะนำให้เราหัดทำความรู้จักกับคนหลายๆ ประเภท ถึงแม้จะฝืนอยู่บ้างในช่วงแรกๆ เพราะธรรมชาติของคนมักนิยมคุยกับคนที่สนใจหัวข้อเดียวกันมากกว่า แต่ถ้ามองถึงประโยชน์ระยะยาวแล้ว ก็ควรเป็นเพื่อนกับคนหลายๆ แบบ