Categories
หนังสือ

หนังสือ The Power of Input – กฎพื้นฐานของ Input

ทุกวันนี้ข้อมูลความรู้ไม่ใช่สิ่งที่ขาดแคลนแล้ว เราสามารถหาข้อมูลในสิ่งที่เราอยากรู้ได้ทุกอย่าง เราจึงพยายามอ่านเยอะ ๆ เรียนรู้เยอะ ๆ แต่ถ้าเรารับ Input แล้วสุดท้ายจำไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์อยู่ดี

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้พบว่าคนส่วนใหญ่จำสิ่งที่อ่านในแต่ละสัปดาห์ได้แค่ 3% เท่านั้น แต่ถ้าเรารับเฉพาะข้อมูลที่จำเป็น และเลือกที่จะไม่รับหรือทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นซะ เราก็จะสามารถเพิ่มอัตราการจดจำข้อมูลได้ถึง 90% หรือเพิ่มขึ้น 30 เท่า เลยทีเดียว

ดังนั้นการรับ Input เป็นเรื่องของคุณภาพ มากกว่าเรื่องของปริมาณ และเมื่อเราคุมคุณภาพของ Input ได้แล้วค่อยเพิ่มปริมาณทีหลัง

หนังสือ The Power of Input เล่มนี้ มีกฎพื้นฐาน 3 ข้อ คือ

  1. ต้อง “ตั้งใจ”
    การรับ Input ห้ามทำไปงั้น ๆ แต่เราต้อง อ่านอย่างตั้งใจ ฟังอย่างตั้งใจ ดูอย่างตั้งใจ
  2. ตั้งเป้าหมายของการสร้าง Output ก่อน แล้วค่อยลงมือทำ Input
    เราต้องกำหนด Output ที่ต้องการให้เป็นรูปธรรมและกำหนดเวลาให้ชัดเจน เช่น เราวางเป้าหมายว่าต้องการสอบ TOEIC ให้ได้ 450 คะแนน ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อที่จะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องศึกษาภาษาอังกฤษ ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยมองเห็นวิธีการเรียนที่ชัดเจนขึ้น รู้ว่าต้องซื้อหนังสือแบบไหน และใช้เวลาเรียนสัปดาห์ละกี่ชั่วโมง
  3. ทำ Input กับ Output ไปพร้อม ๆ กัน
    ซึ่งเรื่องนี้ก็คือ “บันใดวนแห่งการพัฒนาตนเอง” ในหนังสือ The Power of Output นั่นเอง เช่น เมื่อเราอ่านหนังสือเราควรจดไปด้วยและเมื่อเราอ่านจบเราควรเขียนรีวิว เขียนสรุป หรือเล่าให้เพื่อนฟัง

เทคนิคการทำ Input ให้เกิด Output มากขึ้น

เทคนิคที่จะช่วยให้เราจดจำ Input ได้มากขึ้น หรือสร้าง Output ได้มากขึ้นก็คือ การตั้งเป้าหมายการทำ Output ไว้ล่วงหน้า ผู้เขียนบอกว่าการทำแบบนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพได้ 100 เท่า เลยทีเดียว

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อหัวหน้าให้เราไปเข้าอบรมเป็นเวลา 3 วันและบอกกับเราว่าต้องกลับมาสอนคนในบริษัทเป็นเวลา 3 ชั่วโมง เราคงจะตั้งใจฟัง จดเนื้อหาที่สำคัญ และจดจำได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

วิธีเก็บเฉพาะข้อมูลที่จำเป็น

ผู้เขียนพูดถึง Cocktail party effect ว่า เมื่อเราอยู่ในงานปาร์ตี้ที่มีคนเยอะ ๆ แล้วมีใครซักคนพูดถึงชื่อเรา เราก็ยังจะได้ยินแม้อยู่ท่ามกลางเสียงดังก็ตาม

นั่นเป็นเพราะในสมองของเรามี “สมาธิเลือกสรร (Selective Attention)” หรือที่ในหนังสือเล่มนี้เรียกว่า “การตั้งเสาอากาศแห่งความสนใจ” มาช่วยเราเก็บเฉพาะข้อมูลที่มีความสำคัญ

เทคนิคที่จะช่วย “ตั้งเสาอากาศแห่งความสนใจ” คือ

  1. เขียนคีย์เวิร์ดของสิ่งที่เราสนใจ แล้วกลับมาดูเป็นครั้งคราว
  2. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าเราจะเรียนรู้อะไรจาก Input นั้น ช่วยให้สมองเราเลือกรับรู้จุดที่มีความสำคัญได้โดยอัตโนมัติ
  3. ตั้งคำถามกับตัวเอง เพราะเวลาที่สมองถูกถาม มันจะพยายามหาคำตอบของคำถามนั้น
  4. ตั้ง Output ไว้ล่วงหน้า เช่น อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะเขียนรีวิว ซึ่งการตั้ง Output ไว้ล่วงหน้าเป็นวิธีที่ดีเยี่ยมสำหรับการตั้งเสาอากาศแห่งความสนใจ

เพิ่มความสามารถในการจดจำด้วยอารมณ์

สมองเราจะจดจำได้ดีขึ้นเมื่อเรื่องนั้น ๆ มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นเพื่อเพิ่มความสามารถของสมองในการจดจำ Input เราควรที่จะ

  1. สร้างให้เป็นเรื่องราว อาจประยุกต์เป็นการอ่านในรูปแบบการ์ตูนหรือนิยาย
  2. เรียนรู้ในสิ่งที่รู้สึกตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็น
  3. เมื่อซื้อหนังสือมาให้อ่านทันที เพราะตอนนั้นเรามีความรู้สึกอยากอ่าน
  4. เมื่อมีข้อสงสัย ให้หาคำตอบทันที
  5. นำเสนอต่อหน้าผู้อื่น เพราะความตื่นเต้น+การสอน จะช่วยเพิ่มความจำ
  6. พยายามเชื่อมโยง “ความประทับใจ” กับ “การเรียนรู้”
  7. เรียนรู้จากการท่องเที่ยว เพราะมีทั้งความตื่นเต้น ความระทึกใจ และประทับใจ