สำหรับคนที่เพิ่งพยายามทำ Startup อย่างผม เรื่องแบบนี้ยังไม่มีประสบการณ์ตรง ยังไปไม่ถึงในจุดนั้น ก็คงต้องศึกษาจากประสบการณ์ของคนที่เค้าเคยผ่านจุดนั้นมาแล้วซึ่งเค้าได้เตือนเอาไว้ และเพื่อเตือนตัวเองไว้ในวันนึงว่าเรื่อง Cash flow นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าอยากให้ธุรกิจของเรายืนได้ยาวๆ เลยเอามาแปะไว้ซะหน่อย
ที่มา http://isriya.com/node/4108/burn-rate
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Marc Andreessen แห่ง a16z ออกมาโพสต์เตือนสภาวะ “ฟองสบู่ 2.0” ของวงการ startup ในซิลิคอนวัลเลย์
- Marc Andreessen Sounds Warning on Start-Ups Burning Cash
- When The Market Turns, A Bunch Of Startups Are Going To ‘Vaporize’
- Bubble 2.0? Moneybags VC Andreessen warns profit-free startups: ‘You will be VAPORIZED’
ประเด็นที่เขาเตือนนั้นน่าสนใจมาก นั่นคือเรื่อง burn rate หรือ “ค่าใช้จ่ายต่อเดือน” ของ startup ที่ยังไม่มีรายรับ
Andreessen ยกบทความของนักลงทุนสองคนคือ Bill Gurley จาก Benchmark Capital และ Fred Wilson จาก Union Square Ventures ที่เขียนถึงเรื่องนี้
ประเด็นที่ Fred Wilson บอกคือ startup ซิลิคอนวัลเลย์ (รวมถึงที่อื่นๆ ด้วย แต่เน้นซิลิคอนวัลเลย์เป็นหลัก) มักให้ความสำคัญกับ “valuation” หรือมูลค่าบริษัทตามราคาหุ้น (ที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามรอบของการระดมทุน) ซึ่งเขามองว่ามันเป็นตัวเลขในอากาศ ถ้าน้อยไปก็สามารถเพิ่มได้ไม่ยากนัก แต่อันที่ควรจะใส่ใจคือ “burn rate” หรือ “อัตราการเผาเงิน” ซึ่งเป็นของจริง
ส่วน Gurley เตือนว่า startup ยุคนี้ใช้เงินมากเกินไป อาการจะคล้ายกับปี 1999 ก่อนฟองสบู่ดอทคอมแตก เหตุผลที่ใช้เงินเปลืองเป็นเพราะได้เงินมาง่าย (ต้นทุนการเงินต่ำ หรือ low cost capital) นักลงทุนอยากจ่ายเพื่อเกาะกระแส startup บูม แต่สำหรับ startup ที่ยังไม่มีรายได้จริงๆ เข้ามา ถ้ายังใช้เงินเยอะขนาดนี้แล้วฟองสบู่แตก บริษัทก็จะล่มสลายลงแทบจะทันที
Gurley บอกว่าสัญญาณเตือนที่น่าสนใจคือเจ้าของตึกในซานฟรานซิสโก เริ่มเจรจาให้ startup ที่มาเช่าตึกเซ็นสัญญาเช่านาน 10 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณว่าวงการอสังการิมทรัพย์มองว่าฟองสบู่ใกล้แตกแล้ว ทำให้ “อัตราค่าเช่า” ในอนาคตไม่น่าจะขึ้นสูงไปกว่านี้อีก จึงพยายามผูกมัดให้ startup (ซึ่งในที่นี้คือผู้เช่า) จ่ายค่าเช่าในราคาปัจจุบัน (ที่น่าจะสูงที่สุดแล้ว) ไปอีก 10 ปีให้ได้
Andreessen มีมุมมองคล้ายๆ กันคือถ้าตลาดทุนถึง “ขาลง” เมื่อใด startup ที่มี burn rate เยอะๆ จะ “ระเหย” (vaporized) ไปในทันที
เขาแยกแยะข้อเสียของสภาวะที่ burn rate มากๆ ไว้ดังนี้
- burn rate เยอะแปลว่าบริษัทเริ่มอ้วน ปรับตัวตามตลาดได้ช้าลง เปลี่ยนแปลงได้ยาก
- การจ้างคนเข้าบริษัทเป็นเรื่องง่าย แต่การปลดคนออกเป็นเรื่องยาก ถ้าจ้างคนห่วยๆ เข้ามาเยอะๆ การปลดออกนั้นไม่ง่าย คนแบบนี้ก็จะอยู่กินเงินเดือนไปเรื่อยๆ
- บริษัทจะพยายามแก้ปัญหาใดๆ ก็ตามด้วยการจ้างคนเข้ามาเพิ่ม (“งานเยอะเกินไปใช่ไหม จ้างคนเข้ามาอีกสิ”) จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร
- การที่มีพนักงานเยอะๆ ออฟฟิศสวยๆ ช่วยสร้างสภาวะปลอมๆ ให้รู้สึกว่าบริษัทเริ่มประสบความสำเร็จแล้ว และแรงกดดันที่บีบให้ต้องทำงานจริงๆ ให้สำเร็จนั้นลดลงไป
- พอคนเยอะ การสื่อสารภายในองค์กรก็เริ่มซับซ้อน กระบวนการทำงานเริ่มช้าลง สภาพการทำงานในบริษัทแย่ลง
- เมื่อเดือนนึงต้องใช้เงินเยอะ การระดมทุนรอบถัดๆ ไปก็ยากขึ้น เพราะต้องระดมทุนให้ได้เยอะมากขึ้น (มาชดเชยกับ burn rate)
- หรือต่อให้ระดมทุนได้ เงื่อนไขของเงินที่ได้มาก็จะสลับซับซ้อนขึ้นในแง่ของโครงสร้างผู้ถือหุ้น
- เมื่อตลาดถึงขาลง โอกาสจะถอนตัวด้วยการขายบริษัทก็ยิ่งน้อย เพราะไม่มีใครอยากมาซื้อกิจการของเราแล้วต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาลแทนเรา
เนื่องจากตัวผมเองก็เคยผ่านสภาวะการณ์ burn rate สูงๆ มาแล้วเลยรู้ซึ้งในประเด็นนี้ (และจากประสบการณ์ของเพื่อนๆ ในวงการผู้ประกอบการก็มาแนวเดียวกันหมด)
จริงๆ เรื่องนี้วงการผู้ประกอบการเขาสอนกันมานานแสนนานแล้วว่า cash flow เป็นเรื่องสำคัญที่สุด (แต่เราไม่ค่อยจะนึกถึงมันมากนักในช่วงขาขึ้น)
การลดค่าใช้จ่ายไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะเรื่องของคน และการหาเงินทุนเพิ่มในช่วงที่ต้องการเงินก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลา ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดในฝั่งของ burn rate คือทำตัวให้ lean ที่สุดเท่าที่จะทำได้ในแง่ค่าใช้จ่ายประจำ เพื่อให้สามารถปรับตัวหรือพลิกแพลงตามสภาพการณ์ ณ เวลานั้นได้ง่ายที่สุดครับ (การทำตัว lean ยังมีผลช่วยให้มีเงิน cash flow ในมือเยอะขึ้นอย่างที่ควรจะมีด้วย ไม่เสียเงินไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องเสีย)