Categories
ธรรมะ

“ส.ศิวรักษ์”ฉะพระผู้ใหญ่ฉาวไม่แพ้เณรคำ

“ส.ศิวรักษ์”ฉะพระผู้ใหญ่ฉาวไม่แพ้เณรคำ
สัมภาษณ์โดย…สุภชาติ เล็บนาค/กวินภพ พันธุฤกษ์

ปรากฎการณ์ “เณรคำ ฉัตติโก” ฉาวสะเทือนแผ่นดิน ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อตัวเณรคำเองเท่านั้น เพราะโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก ยังเปิดโปงพฤติกรรม “ไม่เหมาะสม” ของพระสงฆ์มากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดคำถามขึ้นจากพุทธศาสนิกชนมากมายว่า เกิดอะไรขึ้นกับวงการสงฆ์ และในเมื่อพระสงฆ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของพระพุทธศาสนา มีพฤติกรรมเช่นนี้ พระพุทธศาสนา จะดำรงอยู่ต่อไปอย่างไร

โพสต์ทูเดย์ มีโอกาสสัมภาษณ์ “สุลักษณ์ ศิวรักษ์” หรือ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม และผู้ก่อตั้งเสมสิกขาลัย ผู้คร่ำหวอดในแวดวงเรื่องพระสงฆ์เป็นอย่างดี

ถาม : ปัญหาทั้งหมดเกิดจากอะไร

ส.ศิวรักษ์ : ผมสรุปว่าศาสนาพุทธ สอนให้คนละโลภ โกรธ หลง แต่ตอนนี้เราสมาทานลัทธิศาสนาใหม่ทุนนิยม บริโภคนิยม อุดหนุนความโลภ โกรธ หลง ตอนนี้ศาสนาใหม่แรงมาก พระก็สมาทานศาสนานี้ทั้งนั้น ทุกคนเห็นว่า ความโลภ โกรธ หลงเป็นของดี เราทิ้งศาสนาพุทธหมดแล้ว เหลือแต่รูปแบบเท่านั้นเอง พระผู้ใหญ่ก็นับถือศาสนานี้ทั้งนั้น คุณดูสิ สมณศักดิ์สูงๆ ไปฉัน ไปเทศน์ อย่างน้อยก็แสนหนึ่ง พระราชาคณะก็เป็นหมื่น เป็นไปหมดเลย ตราบใดที่ไม่มีการตรวจสอบ
วิธีตรวจสอบง่ายนิดเดียว เดี๋ยวนี้พระก็มีบัญชีธนาคารทั้งนั้น ก็ตรวจสอบจากธนาคาร แล้วก็ให้เสียภาษีเหมือนชาวบ้านทั่วไป คนที่ถวายเงินก็ลดภาษีได้ถ้าประกาศว่าถวายเท่าไร เราก็จะรู้เลยพระรับเงินเท่าไร ทุกอย่างต้องตรวจสอบได้ ทั้งพระทั้งเจ้า ถ้าตรวจสอบได้ทุกอย่างเรียบร้อย

ถาม : อะไรที่ทำให้พระสงฆ์เข้ามายุ่งกับเรื่องทุนนิยม

ส.ศิวรักษ์ : ประการแรก สังคมไทยเป็นสังคมเกษตร “พระพึ่งชาวบ้าน ชาวบ้านพึ่งพระ” พระออกบิณฑบาตชาวบ้านก็ใส่บาตร จุดใหญ่ใจความคือ “พระดูแลชาวบ้าน ชาวบ้านดูแลพระ” ยุ่งกับพระเป็นอลัชชีก็สึกพระเลย เพราะคณะสงฆ์เป็นสังคมตัวอย่าง ที่ความรัก โลภ โกรธ หลงน้อยกว่าเรา สมัยก่อนที่สวนโมกข์เก่า มีพระรูปหนึ่ง นอนกับผู้หญิง พอรุ่งเช้า ชาวบ้านก็เอากางเกงมาให้ ให้พระสึก นี่คือตัวอย่างของความใกล้ชิดระหว่างชาวบ้านกับพระ

แต่เมื่อ 50-60 ปีมานี่ ทุนนิยมเข้ามาล้างสมองให้เราเป็นสังคมอุตสาหกรรม ทำลายพื้นฐานหมดเลย ชาวบ้านทิ้งเมืองมาอยู่กรุงเทพหมด พระก็ทิ้งชนบทมาอยู่กรุงเทพฯ เหมือนกัน ในที่สุด ชนบทก็ไม่มีคน หลายวัดในชนบทไม่มีพระ บางแห่งต้องเอาคนแก่อายุเท่าผมมาบวช กลางคืนกินเหล้าไม่เป็นไร เอามาทำพิธีอย่างเดียว กลายเป็นพราหมณ์พิธี มีเงินก็ไม่เป็นไรแค่จ้างมาสวดมาทำพิธีอย่างเดียว

กลายเป็นว่า พระไม่มีบทบาทความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณเหลือแล้ว เอาตามชาวบ้าน ชาวบ้านมีรถก็อยากมีบ้าง เอาอย่างเณรคำมีรถตั้งกี่คัน ถวายเจ้าคณะอีกก็ตั้งหลายคัน เจ้าคณะก็ปกป้อง ติดสินบนกันตลอดทุกสายเลย ไม่มีความรู้สึกเลยว่าผิดชอบ ซึ่งผิดหลักหมด เพราะการบวชพระก็ต้องเป็น “ลัชชี” ลัชชีคือผู้ความละอายเป็นเจ้าเรือน พระที่เลวคือพระที่เรียกว่าเป็น “อลัชชี” ไม่มีความละอาย พอพระไม่มีความละอายก็เสร็จเลย

สมัยก่อน ตอนผมบวชที่วัดทองนพคุณ พื้นกุฏิวัดต้องเอาหีบศพที่ใช้แล้วมารอง เวลานอนก็นอนรวมกัน เปิดให้เห็นหมด พอตอนนี้กุฏิติดแอร์กันหมด สุดท้ายก็ปล้ำกันสนุกเลยสิ คนก็ตรวจสอบไม่ได้ด้วย

ถาม : เป็นเพราะคนเข้าไปที่วัดมากขึ้น หรือพระเองที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน?

ส.ศิวรักษ์ : ทั้ง 2 ฝ่าย คืออย่างแรกเลยพระต้องดูแลชาวบ้าน ชาวบ้านต้องดูแลพระ แต่ก่อนวัดกับชุมชนมันเป็นแห่งเดียวกัน แต่เดี๋ยวนี้มันหมดไปแล้ว สมัยก่อน ในเมืองหลวง ตั้งพระราชาคณะก็ตั้งพระที่มีคุณงามความดี ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นศรีแก่ศาสนา แก่พระนคร แต่เดี๋ยวนี้พระราชาคณะมีเป็นร้อย ติดสินบนกันเยอะเลยนะ เลื่อนสมณศักดิ์ติดสินบนเป็นล้าน ยิ่งกว่าตำรวจ คือพอมันพลาดเป้าหมายมันก็เซ

ถาม : แต่พระธรรมคำสอนก็มีมานานที่ต้องทำตาม?

ส.ศิวรักษ์ : พระธรรมคำสอนต้องเอามาปฏิบัติ ศาสนาพุทธสอนให้ปฏิบัติ ยกตัวอย่างศีล ไม่ได้บอกให้ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ แต่สอนให้ศึกษาว่า การฆ่าสัตว์ไม่ใช่แค่ทำให้สัตว์เดือดร้อน เราเองก็เดือดร้อน เพราะเราเพิ่มโทสจริต หรือความโลภเป็นของเลวถึงไม่ควรปฏิบัติ

แต่วันนี้ ชาวบ้านฉันใด พระก็ฉันนั้น ทุกคนมุ่งสตางค์ มุ่งอำนาจ มุ่งยศ พระชั้นผู้ใหญ่นี่มีรถหวอนำ ทั้งๆที่ก่อนเป็นพระ ก็เป็นลูกชาวบ้าน ซึ่งตรงนี้ต่างจากพระพุทธเจ้าเลยนะครับ พระพุทธเจ้าท่านเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดิน เสด็จออกมาเป็นขอทาน แต่นี่ลูกขอทานกลับอยากเข้าวัง พอเป็นชั้นสมเด็จฯ ก็ใช้คำราชาศัพท์แล้ว ก็เสร็จสิ ก็เลอะหมดเลย แล้วที่สำคัญคือคนไม่เคยตั้งคำถาม พอเห็นพระก็ไหว้ พระผู้ใหญ่หน่อยก็ถวายเงินเยอะ แต่พอลับหลังด่าพระ สังคมไทยเป็นสังคมหน้าไหว้หลังหลอก
สังคมไทยถ้าแก้ความหน้าไหว้หลังหลอกไม่ได้ ก็แก้อะไรไม่ได้ ยกตัวอย่าง เราจับลูกฝรั่งลูกเจ๊กมาเล่นละคร เป็นคุณชายกันเป็นแถบเลย แล้วก็ตื่นเต้นคุณชาย คุณชายส่วนมากมันเลวทั้งนั้น เป็นสังคมที่ฝันหวาน ไหนจะเรื่องผีที่เอามาเล่นๆกันอย่างพี่มาก คนก็เชื่อนะ เพราะคนถูกมอมเมา เมื่อไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองก็พร้อมที่จะเชื่อสิ่งที่เขามอมเมา

ทั้งที่ ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่สอนให้คนเชื่อมั่นในตัวเอง สอนให้เห็นว่าไม่ต้องมีการมอมเมา พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เคารพพระพุทธรูปเลย สอนให้เคารพตอนเอง แต่วันนี้ไปดูสิ พระยิ่งปลุกเสกเครื่องรางของขลัง หาเงินเข้าวัดได้มากเท่าไร คนก็ยิ่งนับถือ แต่ไม่รู้เลย ไม่ว่าจะหาเงินเข้าวัด หรือสร้างโรงพยาบาล ก็ผิดพระธรรมวินัย เพราะพระไม่ได้มีหน้าที่หาเงิน มันเป็นหน้าที่ของโยม สิ่งที่ทำเป็นมิจฉาอาชีวะ มอมเมาให้คนเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้องเปลี่ยนความโลภเป็นการให้

ถาม : แล้วจะกลับมาสู่จุดเดิมได้ไหมที่พระก็ชาวบ้านใกล้ชิดกัน ช่วยกันดูแล

ส.ศิวรักษ์ : คุณจะเอาอย่างนั้นเลยเหรอ (ยิ้ม) เป็นไปได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าต้องหาเหตุแห่งทุกข์ 4 ประการ (อริยสัจ 4) เดี๋ยวนี้สังคมไทยเต็มไปด้วยความทุกข์ คณะสงฆ์เต็มไปด้วยความทุกข์ บ้านเมืองเต็มไปด้วยความทุกข์ ต้องยอมรับก่อนว่าเราเป็นอย่างนี้จริงหรือเปล่า คณะสงฆ์มีปัญหาจริงหรือเปล่า แต่เราก็ไม่รับ

เรื่องเณรคำก็ปลายเหตุ เด็กไม่มีความรู้ยังทำได้เท่านี้ ก่อนหน้านี้พระยันตระ (ยันตระอมโรภิกขุ) ก็เคยทำมาแล้ว ซึ่งเรื่องมันเล็กมาก แต่เรื่องที่ใหญ่ขึ้น เช่น เจ้าอาวาสวัดใหญ่หลายวัดเป็นตุ๊ด หรือ พระผู้ใหญ่มีเมีย หรือ พระชั้นผู้ใหญ่หลายคนเอง รับกิจนิมนต์ เฉพาะที่ถวายเงินมากๆ เท่านั้น ถ้าไม่ยอมรับความจริงตอนนี้ก็แก้อะไรไม่ได้

พื้นฐานศาสนาพุทธคือ 1. ต้องเปลี่ยนความโลภ เป็นทานการให้ ตรงข้ามกับทุนนิยม เปลี่ยนความโกรธเป็นเมตตากรุณา เปลี่ยนความหลงเป็นปัญญา รู้จริงอย่างไม่เห็นแก่ตัว ไม่ว่านิกายเถรวาท มหายาน ใช้หัวใจอันเดียวกันหมด คือลดความโกรธ โลภ หลง การแก้ปัญหาต่าง ๆ ใช้ความรุนแรงไม่ได้เลย อยากถามว่า คนไทยเข้าใจศาสนาพุทธกี่คน และปฏิบัติตามได้กี่คน

ถาม : พระสงฆ์ควรจะมีหน้าที่อะไรบ้าง?

ส.ศิวรักษ์ : หน้าที่หลักที่สุดคือ 1. จะต้องไม่ประพฤติปฏิบัติหลัก 4 ข้อใหญ่ คือ 1.เสพเมถุนไม่ได้ ไม่ว่ากับหญิงหรือชายหรือสัตว์ 2.โกงเงินคนไม่ได้ แม้เพียงบาทเดียว 3.ฆ่าคนไม่ได้ และ 4.อวดอ้างคุณวิเศษที่ไม่มีในตนไม่ได้ ส่วนพระที่ดีมี 4 ข้อ คือ 1.เลี้ยงชีวิตได้ด้วยลำแข้งตัวเองเพียงอย่างเดียว คือบิณฑบาต ถ้าไม่ใส่บาตรยอมอดตาย 2. เสื้อผ้าไม่มี ไปเก็บเอาที่เขาทิ้งแล้ว ที่บังสุกุลจีวร เอามาย้อมเอามาเย็บ 3. อยู่อยู่เรือนเปล่าเรียบง่าย 4.เวลาเจ็บป่วยก็ไปเก็บเอารากไม้มาผสมยารักษาโรค
ส่วนพระที่ฉันแล้วเอน เพลแล้วนอนไม่เป็นไร ท่านก็ไม่ใช่พระที่ดีแต่ก็ไม่ใช่พระที่เลวร้าย ซึ่งมีไม่น้อย ที่อันตรายคือพระเลวร้าย แย่งกันได้สมณะศักดิ์ เลื่อยขอเก้าอี้กัน ติดสินบนกันไม่ใช่น้อย นี่เข้าขั้นบัดซบเลย

ถาม : มองศาสนาพุทธทั่วโลกถึงจุดเสื่อมหรือยัง

ส.ศิวรักษ์ : ตอนนี้มันเสื่อมเต็มที่แล้ว คือคณะสงฆ์ที่เสื่อม เมืองไทยนี่เสื่อมในทางทุนนิยม นิยมบริโภคมากที่สุด เขมรก็ไปทางการเมือง ลังกา พระก็ไปทางการเมือง ชาตินิยม ประเทศที่เถรวาท พม่าดีกว่าเพื่อน รองลงมาก็ลาว ปกติพระลาว จะมาเรียนในไทย แต่ผมไปคุยกับพระลาว ล่าสุดท่านบอกจะไม่ส่งพระมาเรียนเมืองไทยอีกแล้ว เพราะเรียนไปแล้วกร่าง ดูถูกพระลาวว่าโง่ แต่พระลาวนี่เรียบร้อย

ถาม : เรื่องการทำบุญ หรือการให้ของพระ?

ส.ศิวรักษ์ : การทำบุญคือการทำในสิ่งซึ่งฉลาด กุศลคือฉลาด จุดใหญ่ใจความของการทำบุญประการแรกคือการฝึกตัวเองให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน อย่างเวลาทำบุญพระจะให้พร คือ อายุ คือใช้พลังชีวิตที่มีให้ถูกต้อง วรรณะ คือ สุขภาพดี สุขะ คือ ความสุข สุขกายสุขใจ พะลัง คือ ความแข็งแรงทางจิตใจ

ต่อมาคือทาน ทานคืออะไร ให้สิ่งเกินที่เราไม่ต้องการ ฝึกจนให้สิ่งที่เรารักมากที่สุด สำคัญกว่านั้นคือ ธรรมทาน คือการกล้าให้ความจริง กล้าพูดสิ่งที่เป็นสัจจะ สังคมไทยวันนี้ถือว่าหน้าไหว้หลังหลอก พูดแล้วโดนจับ สูงมากกว่านั้นคือ อภัยทาน เราทุกคนมีความกลัว ต้องฝึกไม่ให้กลัว อีกนัยยะหนึ่งเมื่อเรามีอภัยแล้ว เราจะไม่เห็นศัตรู เราจะเห็นศัตรูในตัวเราเอง ทั้งโลภ โกรธ หลง ภาวนาเพียง 10 นาที ดีกว่าใช้เงินเป็นเหมื่นเป็นแสน ไม่ได้เกี่ยวกับเงิน

ถาม : การควบคุมกันเองของพระ ดูเหมือนจะไม่ได้ผล ต้องทำยังไง?

ส.ศิวรักษ์ : ทุกวันนี้ กลายเป็นผูกกับอำนาจรัฐทั้งหมด มหาเถระสมาคมก็ทำอะไรไม่ได้ อำนาจเขามีน้อย อำนาจเขามีแค่เรื่องสมณะศักดิ์ หรืออนุมัติให้พระไปต่างประเทศ เป็นเรื่องเลอะเทอะทั้งนั้น อำนาจจริง ๆ ไม่มี

มหาเถระสมาคมต้องสนใจชาวบ้าน ไม่ใช่สนใจแต่เอาตัวเองจะเข้าวังได้อย่างไร วันก่อนสมัชชาคนจนมาอยู่นอกทำเนียบ ทำไมพระผู้ใหญ่ไม่เอาบิณฑบาตไปเลี้ยงสมัชชาคนจน ตัวเองมาจากคนจนเท่านั้น แต่ลืมกำพืด ระบบเราสอนให้คนลืมกำพืดนะ ระบบการศึกษาอะไร สอนให้คนเป็นวัวลืมตีน

ถาม : เรื่องพระเข้ามายุ่งกับการเมือง?

ส.ศิวรักษ์ : คือยุ่งนี่ผิดทุกเรื่อง เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ไหม ได้ แต่ต้องวางท่าทีให้ถูกต้อง สามารถเตือนนักการเมืองได้ แต่ผมบอกได้เลย ส่วนมากพระเป็นหัวคะแนน อันตรายมาก พระเรียกเงินค่าทำถนน สร้างโบสถ์ ก็ต้องถามว่าจะเอาแบบศรีลังกาไม ให้พระเป็นสส.ได้ ยังดีที่เมืองไทยยังไม่อนุญาตให้พระลงสส. ถ้าของเราลงได้นี่เผลอๆ เต็มสภาเลย (หัวเราะ)

พระ เราต้องรู้ทันการเมือง อย่าไปเกี่ยวข้อง ตอนนี้พระไม่รู้เท่าทันก็เสร็จเลย ต้องรู้ทันแต่อย่าไปเกี่ยวข้อง เป็นมโนธรรมสำนึกให้นักการเมือง ต้องเตือนเขา อย่าไปหวังผลจากเขา

ถาม : พระที่เป็นเกย์ หรือโพสต์รูปจูบปากในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นเพราะเทคโนโลยีด้วยหรือไม่?

ส.ศิวรักษ์ : ก็เป็นส่วนหนึ่ง แสดงว่าคณะสงฆ์อ่อนแอถึงขนาดนี้แล้ว แต่ก่อนเป็นไปไม่ได้ ทำไมเป็นไปไม่ได้ เพราะการบวชเขาเรียกบวชเรียน ไปอยู่สำนักไหนเขาต้องสอนอย่างน้อย 5 ปี เพราะเวลาบวชไปเราติดนิสัยชาวบ้าน มันต้องฝึกต้องปรือ ให้รู้ว่าอะไรที่ทำไม่ได้ ถ้าจะมองเป็นเรื่องทุกเรื่องอ่อนไหวหมด ต้องอภิปรายกันให้ได้ ทั้งเรื่องพระทั้งเจ้า ถ้าอ่อนไหวทุกเรื่อง พูดไม่ได้ก็เสร็จหมด คือสัจจะ เราต้องพูดทุกเรื่อง

ถาม : พอวัดในเมืองกลายเป็นแบบที่อาจารย์ว่า คนก็แสวงหาเข้าวัดป่ากันหมด

ส.ศิวรักษ์ : ใช่ แต่ว่าสภาพมันกลายหมดแล้ว เพราะพระป่าแต่ก่อนท่านอยู่ในป่า ถ้าคนไม่ไปหาท่านท่านก็อดอยาก พระบางที่เป็นโรคขาดสารอาหาร ตอนนี้มีแต่คนไปถวายของทางพระป่ามากขึ้น คุณหญิงคุณนายเข้าวัดป่านี่ ขี้เยี่ยวกระเด็นไม่ได้ ต้องสร้างห้องน้ำเป็นแสน ๆ กุฏินี่เลื่อยไฟฟ้าสร้างหมดแล้ว

พระป่าที่ยังดีอยู่ผมก็เห็นว่ามีท่านพระไพศาล (พระไพศาล วิศาโล) และพระสายหลวงปู่ชา สุภัทโธ อีกหลายรูป ขณะเดียวกัน ที่อยู่ในป่าลึกจริงๆ ก็มี ซึ่งเราก็ไม่ควรไปยุ่งกับท่าน เพราะยุ่งมากๆ ก็จะเหมือนกับที่คุณหญิงคุณนาย ไปถวายอาหาร จนพระป่าหลายๆ แห่ง กลายเป็นหมูไปหมดแล้ว

*”ส.ศิวรักษ์”ฉะพระผู้ใหญ่ฉาวไม่แพ้เณรคำ
โดย…สุภชาติ เล็บนาค/กวินภพ พันธุฤกษ์
ที่มา: โพสต์ทูเดย์
http://www.posttoday.com/วิเคราะห์/รายงานพิเศษ/234571/ส-ศิวรักษ์ฉะพระผู้ใหญ่ฉาวไม่แพ้เณรคำ

Categories
ธรรมะ

กินเจ…กินเนื้อ – “กบ” กับ “คางคก” โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท

กินเจ…กินเนื้อ – “กบ” กับ “คางคก”
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท

วันหนึ่งมีคนมาถามหลวงพ่อชา เกี่ยวกับเรื่องการกินเจ กับการกินอาหารเนื้ออาหารปลาต่างกันอย่างไร อย่างไหนถูก อย่างไหนผิด

ท่านตอบว่า

“เหมือนกบกับคางคกนั่นแหละ โยมว่ากบกับคางคกอย่างไหนมันดีกว่ากัน

ความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ฉันอะไร ไม่ได้เป็นอะไร ในจิตของท่านไม่มีอะไรเป็นอะไรอีกแล้ว

การบริโภคอาหารเป็นสักแต่ว่าเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกายพอให้คงอยู่ได้ ท่านไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร ไม่ให้ติดอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ให้รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่ให้บริโภคด้วยตัณหา นี่เรียกว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ฉันอะไร ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไรแล้ว

ถ้าคนกินเนื้อไปติดอยู่ในรสชาติของเนื้อ นั่นเป็นตัณหา ถ้าคนไม่กินเนื้อ พอเห็นคนอื่นกินเนื้อก็รังเกียจและโกรธเขา ไปด่าว่านินทาเขา เอาความชั่วของเขาไปไว้ในใจตัวเอง นั่นก็เป็นคนโง่กว่าเขา ทำไปตามอำนาจของตัณหาเหมือนกัน

การที่เราไปโกรธเกลียดเขานั้น มันก็คือผีที่สิงอยู่ในใจเรา เขากินเนื้อเป็นบาปเราโกรธเขา เราก็เป็นผีเป็นบาปอีกเหมือนกัน มันยังเป็นสัตว์อยู่ทั้งสองฝ่าย ยังไม่เป็นธรรมะ อาตมาจึงว่าเหมือนกบกับคางคก

แต่ทางที่ถูกนั้น ใครจะกินอะไรก็กินไป แต่ให้มีธรรมะ คนกินเนื้อ ก็อย่าเห็นแก่ปากปากท้อง อย่าเห็นแก่ความเอร็ดอร่อยจนเกินไป อย่าถึงกับฆ่าเขากิน ส่วนคนกินเจก็ให้เชื่อมั่นในข้อวัตรของตัวเอง เห็นคนอื่นกินเนื้ออย่าไปโกรธเขา รักษาตัวเราไว้ อย่าให้คิดอยู่ในการกระทำภายนอก พระเณรในวัดนี้ของอาตมาก็เหมือนกัน องค์ไหนจะถือข้อวัตรฉันเจก็ถือไป องค์ไหนจะฉันธรรมดาตามมีตามได้ก็ถือไป แต่อย่าทะเลาะกัน อย่ามองกันในเง่ร้าย อาตมาสอนอย่างนี้ ท่านก็อยู่ไปด้วยกันได้ ไม่เห็นมีอะไร

ให้เข้าใจว่า ธรรมะที่แท้นั้น เราจะเข้าถึงได้ด้วยปัญญา ทางปฏิบัติที่ถูกก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเราสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไว้ดีแล้ว จิตก็จะสงบ และปัญญาความรู้เท่าทันสภาพของสังขารทั้งหลาย ก็จะเกิดขึ้น จิตใจก็เบื่อหน่ายจากสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ทั้งหลาย วิมุตตก็เกิดขึ้นเท่านั้น”

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
จากหนังสือ “ใต้ร่มโพธิญาณ”