ถ้าย้อนอดีตกลับไปซัก 7-8 ปีก่อน ผมและเพื่อนเคยมีความฝันที่จะมีกิจการเป็นของตัวเอง โดยเรามี Role Model จาก Silicon Valley เป็นตัวอย่างให้เราเดินวัดรอยเท้า
ในขณะนั้นคนที่ติดตามโลกไอทีคงพอจะทราบดีว่า ที่ Silicon Valley ขอแค่เพียงคุณมีไอเดียดีๆ ก็สามารถหาคนมาร่วมลงทุน หาเงินมาสร้างกิจการได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดในปัจจุบันคือ การถือกำเนิดของ Google ที่ได้เงินลงทุนก้อนแรกจำนวน $100,000 เหรียญสหรัฐ มาจาก Andy Bechtolsheim ซึ่งเป็น Co-founder ของ Sun Microsystems
การได้รับเงินทุนก้อนแรกจำนวน $500,000 ของ Facebook ที่มาจาก Peter Thiel ซึ่งเป็น Angel Investor ระดับ Superstar คนหนึ่งของโลก โดยการชักนำของ Sean Parker ผู้ก่อตั้ง Napster
ผมก็เป็นหนึ่งคนที่มีไอเดีย มีฝันในสิ่งเดียวกัน และบังเอิญมีโอกาสได้ Pitching กับกลุ่มนักลงทุนสัญชาติไอริชที่มาทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทย ไอเดียผมในตอนนั้นก็สดและใหม่ ยังไม่เคยมีคนทำมาก่อน ถ้ามองแบบนี้ก็มีโอกาสที่เราจะได้เงินลงทุนจากนักลงทุนเหล่านี้
แต่ปรากฏว่า Fail ครับ ได้ Pitch ครั้งเดียว โดนคำถามเยอะมาก ซึ่งในตอนนั้น เราใหม่มาก แม้ว่าเราจะจ้างคนมาช่วยทำแผนธุรกิจ แต่ก็ไม่มีความรู้เพียงพอที่จะตอบคำถามทางธุรกิจให้เค้าได้ Business Model ไม่ชัดเจน แผนการตลาด สร้างแบรนด์ แผนการ Launch ก็ไม่มี จะมีก็แต่เพียงความรู้ด้านเทคนิคเท่านั้น ที่คิดว่าเราทำได้ไม่เป็นรองใคร
บทเรียนครั้งนั้น คือ มีแค่เพียงไอเดียอย่างเดียว ไม่พอ นักลงทุนคิดไม่เหมือนเรา และยิ่งนักลงทุนที่ไม่ได้มาจาก Silicon Valley ด้วยแล้ว การที่จะไปอธิบายสิ่งเหล่านี้ให้เค้าเชื่อและคล้อยตาม ต้องมีวิธีการเล่าเรื่องในระดับดีเยี่ยม และมีเทคนิคการ Pitch ขั้นเทพ หรือกระทั่งในรายละเอียดของแผนธุรกิจที่ต้องใส่ใจ เพราะมันแสดงถึงความพร้อม ความรู้ ความเข้าใจในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการตลาด
จบเรื่องนี้ ก็เก็บไว้ในใจรอว่าวันนึงพร้อมเมื่อไหร่ ก็อาจจะเดินกลับมาที่จุดเดิมอีก
เวลาผ่านไป 7-8 ปี ผมลองสำรวจตลาดดู จากที่ตัวเองอยู่ในวงการเทคโนโลยีมาพักใหญ่ ก็พบว่าปัญหาไม่ใช่มีแค่องค์ความรู้แต่เพียงอย่างเดียว
แต่มันต้องมีจิ๊กซอว์อีกหลายๆตัวประกอบกัน แต่บังเอิญ เมืองไทย มันไม่มี!!
จิ๊กซอว์ตัวแรก แหล่งเงินทุน + คอนเน็คชั่น & เน็ตเวิร์ค (Source of Funds + Connection& Network)
ปัจจัยสำคัญอย่างแรกที่ไทยไม่เหมือนกับ Silicon Valley ครับ ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้ไม่มี ทั้งกฏระเบียบของภาครัฐ หรือนโยบายการลงทุนของสถาบันการเงิน ซึ่งผมขออนุญาตไม่กล่าวถึงนะครับ
แต่ Tech Startup ของต่างประเทศจำนวนไม่น้อยก็ได้รับเงินลงทุนจาก Venture Capital ข้ามชาติ เรียกได้ว่าส่วนใหญ่ในเอเชียเลยก็ว่าได้
เงินลงทุนจาก Venture Capital ที่มาลงเงินในเอเชียอยู่ที่ $5.4 พันล้านเหรียญเมื่อปี 2005 และพุ่งมาเป็น $15.6 พันล้านเหรียญ
ในขณะที่ปี 2005 เงินจาก Venture Capital อยู่ที่ $26.2 พันล้านเหรียญ และปี 2010 กลับลดลงเหลือ $25.2 พันล้านเหรียญ
พูดอย่างง่ายๆ คือ เม็ดเงิน โยกย้ายมาฝั่ง Asia เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า โดยเป็นการโยกเงินจากฝั่งยุโรปและอเมริกา มายังเอเชีย
ซึ่งในจำนวนนี้ ไม่มีไทยครับ น่าเศร้าจริงๆ
สำหรับ Connection & Network ส่วนนี้ยากที่สุดครับ
รวมกันเราอยู่ แยกกันอยู่ตายเดี่ยว
สั้นๆแต่ได้ใจความ ถ้า Tech Startup ในไทย รวมตัวกันได้ มีอุดมการณ์อะไรบางอย่างร่วมกัน
ถ้าเราต่อสู่เพื่อสิ่งเดียวกัน ใช้ยุทธวิธีการรบที่สอดคล้องกัน การที่จะไปแข่งขันกับคนอื่นย่อมมีแต่ชัยชนะ
อย่าลืมนะครับว่าเราไม่ใช่ประเทศเดียวโดดๆ
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC จะเปิดเสรีในปี 2015
นอกจากเราจะต้องแข่งขันกับชาติอื่นในอาเซียนด้วยกันเองแล้ว ยังมีตลาดที่ใหญ่โตระดับโลกรอเราอยู่
โลกธุรกิจ ไม่ว่าจะที่ไหน “Know who” ย่อมสำคัญไม่แพ้ “Know how” เพราะเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง บางอย่าง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำเอง จึงจะประสบความสำเร็จ และหลายๆครั้ง ไอเดียของการทำธุรกิจก็มาจากการพูดคุยกับเพื่อนฝูง ในเครือข่ายที่เรารู้จักทั้งนั้น
ช่วงที่ Steve Jobs ถูกขับไล่ออกมาจาก Apple ถ้าเค้าไม่ได้ Alan Kay อดีตผู้ร่วมงานเก่า แนะนำให้รู้จักกับ Ed Catmull และ Alvy Ray Smith สองหนุ่มผู้คลั่งไคล้งานกราฟฟิค
โลกใบนี้คงไม่มีบริษัทชื่อ “Pixar Studio”
จิ๊กซอว์ตัวที่สอง สื่อ (Media)
จากการพูดคุยกับสื่อต่างชาติที่มีชื่อด้าน Tech Startup ไม่ว่าจะเป็น E27, Tech in Asia, Pando Daily, The Next Web เมื่อครั้งที่ผมไปร่วมงาน Echelon 2012 ที่สิงคโปร์
ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า ข่าวไทยด้าน Startup ที่กระเด็นไปถึงหูสื่อต่างชาติ มีน้อยมาก เรียกว่าเกือบไม่มีเลยก็ว่าได้
กระบอกเสียง พื้นที่สื่อ มีความสำคัญมากในโลกดิจิตัล ยิ่งสื่อต่างชาติบอกว่าข่าวจากประเทศเราแทบจะเป็นศูนย์ ก็ยิ่งต้องคิดครับว่าจะทำยังไงให้เรา มีพื้นที่สื่อในสื่อต่างชาติเพิ่มขึ้นได้บ้าง
และเอาใกล้ๆตัว ทำยังไงจะทำให้สื่อบ้านเรา หันมาช่วยกันผลักดัน Startup เหล่านี้ ให้มีพื้นที่มากขึ้น เพื่อเป็นแรงบันดาลใจของใครหลายๆคน ที่บังเอิญ ฝันในเรื่องเดียวกัน
จิ๊กซอว์ตัวที่สาม ไอเดียและองค์ความรู้
ส่วนตัว เป็นคนที่เล่นแอพบนสมาร์ทโฟนเยอะมาก มูลค่าที่จ่ายซื้อแอพ มากกว่ามูลค่าโทรศัพท์ที่ใช้อยู่ซะอีก
ผมเล่นแอพเพื่อใช้งาน และอีกส่วนหนึ่งคือมองหา Inspiration ที่อยู่ข้างใน
หลายปีที่ผ่านมา แอพไทยที่ดังๆอยู่บน App Store มีแทบจะนับได้
วนเวียนอยู่ในไม่กี่ประเภท เป็น Dictionary เป็นแอพอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ดู TV ย้อนหลัง ไม่ฉีกจากนี้เท่าไหร่
ใครที่ช่างสังเกตุและชอบเกี่ยวกับเรื่องแอพ คงจะคุ้นบ้าง
แอพ Dictionary ENG-Thai เป็นแอพ Dictionary ที่คนโหลดมากที่สุดแอพหนึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ชื่อ HEdictionary กับแอพฟังวิทยุอันดับ 1 บน iPhone และ iPad ที่ชื่อ “Thai Radio”
2 แอพนี้ เป็นแอพของคนเวียตนามครับ นักพัฒนาของเวียตนามเขียนมาขายคนไทย แถมขายดีติดอันดับ Top มาเป็นปีๆ โกยเงินคนไทยไปผมว่าน่าจะหลักล้านได้
คนบ้านเราอาจเก่งเรื่องของเทคนิคครับ แต่เรื่องของไอเดีย ก็ต้องยอมรับว่า เรายังขาดไป รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
แต่คนเรา อยู่ๆจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือเกิดไอเดีย มันไม่ใช่ว่าอยุ่ดีๆจะเกิดขึ้นมาได้
ถ้าไม่เห็นตัวอย่าง ไม่เห็นสิ่งที่จะมา Inspire ความคิด ตัวเอง
ซึ่งในหลายครั้ง สิ่งประดิษฐ์สำคัญของโลก อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คิดได้คนแรกเสมอไป
ไอเดีย จึงเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ควรให้น้ำหนัก
นอกจากไอเดียดีๆแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตุได้จากวันที่ไปร่วมงาน Echelon
วันนั้น มีการ Pitching ของ Startup 10 รายที่ถูกคัดเลือกขึ้นเวที
แม้ว่าจะง่วงนอนมาก ที่ต้องตื่นตี 4 เพื่อบินมาสิงคโปร์ตอนหกโมงเช้า แต่ผมก็ดูครบทั้ง 10 ราย
สำหรับผม มีอยู่ครึ่งหนึ่งจากจำนวน 10 ราย ที่ทำ Presentation ออกมา ตอบโจทย์ทางธุรกิจได้ ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่ง นำเสนอด้าน Product ได้ดี แต่ตอบไม่ได้เลยว่า ถ้ามี VC มาลงทุน เค้าจะได้เงินจากอะไร ได้เป็นจำนวนเท่าไหร่ หรือแม้กระทั่งคำถาม Basic แต่ตอบยาก เช่น กลุ่มเป้าหมายของบริการเหล่านี้เป็นใคร
และคำถามยอดฮิต ที่ commentator บนเวที ถามเกือบทุกคนว่า “ถ้า Product ของคุณทำแล้วดี อยู่ๆมียักษ์ใหญ่กระโดดเข้ามาเล่นด้วย จะสู้กับเค้ายังไง”
เกือบทุกราย ไม่สามารถตอบคำถามง่ายๆแต่ตอบยากคำถามนี้ได้
แต่มันเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญจริงๆในการทำธุรกิจ
เพราะทุกวันนี้ธุรกิจแต่ละธุรกิจ เริ่มยากที่จะหาความได้เปรียบในการแข่งขัน ยิ่งธุรกิจออนไลน์สามารถก๊อปปี้กันได้เพียงชั่วข้ามคืน และถ้าคู่แข่งมีเม็ดเงินที่สูงกว่า เราจะเอาอะไรไปสู้กับเค้า
องค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจ กลยุทธ์การตลาด จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะทุกคนถือดาบ ขี่ม้าสามารถออกรบได้
แต่ถ้าไม่มีการวางแผนที่ดี ไหนเลยจะเอาชนะข้าศึกได้
และการวางแผน คงจะดีไม่น้อย ถ้ามีเพื่อนคู่คิด คอยช่วยเหลือกัน
จากจิ๊กซอว์ทั้ง 3 ที่ผมพูดถึง คือ ขั้นต่ำนะครับ จริงๆมีอีกเยอะ ทั้งอยู่ในมือเราบ้าง ไม่ได้อยู่ในมือเราบ้าง
ผมไม่ใช่คนที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรตรงนี้ได้ เพราะเป็นเพียงแค่ฟันเฟืองเล็กๆตัวหนึ่งของระบบ Ecosystem ทั้งหมดของ Startup เท่านั้น
แต่ก็หวังอยากให้มันเป็นฟันเฟืองที่แข็งแรง มีส่วนช่วยทำให้ทั้งระบบ มันเคลื่อนที่ต่อไปข้างหน้าได้
รู้มั้ยครับว่า
ตั้งแต่ปี 2005 มี Startup เกิดขึ้นในเอเชียมากกว่า 6,000 กิจการ 56% เกิดขึ้นในอินเดียและจีน ซึ่งทั้งหมด ได้รับเงินทุนจาก Venture Capital
เมื่อปี 2010 เม็ดเงิน 13% จากจำนวน $37.8 พันล้านเหรียญของ Venture Capital ทั่วโลก มาลงอยู่ที่ 2 ประเทศ คือ จีนกับอินเดีย
จีนกลายเป็นประเทศที่มีสิทธิบัตรเยอะที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก จากที่เคยอยู่อันดับ 10 เมื่อปี 2005 เพราะการเกิดขึ้นของ Startup ใหม่ๆ
ปี 2010 มีบริษัทที่โตจาก Startup ด้วยการลงทุนของ Venture Capital เปิด IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐจำนวน 61 บริษัท ซึ่ง 22 บริษัท คือ บริษัทจีน (อย่างเช่น Youku ที่เป็น VDO Sharing แบบ YouTube)
นับตั้งแต่ปี 2011 เวียตนาม กลายเป็นแหล่งที่เงินลงทุนด้าน Tech สนใจเป็นพิเศษ
แหล่งเงินทุนโดยตรง (FDI : Foreign Direct Investment) เข้ามาลงทุนในเวียตนามมหาศาล ทั้งจากญี่ปุ่น คือ Sanyo , Matsushita, Sony, Toshiba, Panasonic โดยเข้ามาทั้งสร้างฐานการผลิตและดำเนินธุรกิจเอง
มีเงินลงทุนจากฝั่งสหรัฐและยุโรปหลั่งไหลเข้ามาในเวียตนามอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น IBM (สหรัฐ) Cap Gemini (ฝรั่งเศส) หรือ Accenture (ไอร์แลนด์) ซึ่ง 3 บริษัทนี้เข้ามาลงทุนด้าน R&D ด้วยเม็ดเงินไม่น้อย
ที่น่าสนใจ คือ กองทุน IDG Venture ที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจ Startup ของเวียตนาม ด้วยเม็ดเงินกว่า $100 ล้านเหรียญ โดยเน้นที่ธุรกิจ Mobile Gaming และ Search
มีกองทุนขนาดใหญ่ในเวียตนามอย่าง VinaCapital ที่ปกติจะลงเม็ดเงินในธุรกิจอสังหา ได้จับมือร่วมกับบริษัท Draper Fisher Jurvetson ซึ่งมีพอร์ทลงทุนกับ Tech Company มากกว่า 600 บริษัท เพื่อก่อตั้งบริษัทชื่อ DJF VinaCapital เพื่อมาลงทุนใน Tech Startup โดยเฉพาะโดย DFJVC ลงเม็ดเงินไปแล้วกว่า $35 ล้านเหรียญสหรัฐในบริษัท Tech Startup ของเวียตนาม
ดีดลูกคิดแล้ว เป็นจำนวนเงินกว่า 4,000 ล้านบาทไทย
เทียบกับข่าวล่าสุดในวงการของไทย คือ การประกาศลงทุนในลักษณะ Venture Capital ของ Invent ในเครือ INTOUCH ที่ลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท
ต่างกันประมาณ 20 เท่า!!
เห็นแบบนี้ จะทำยังไงกันดี เรายอมแพ้เวียตนามเลยมั้ย?
ผมคนนึงล่ะครับที่ไม่ยอมแพ้
เว็บ EGGidea.com จึงเกิดขึ้นมา เพื่อเป็นเหมือน “เพื่อนคู่คิด” ของ Startup ไทย เพื่อเชื่อมโยงไปถึง Venture Capital และสื่อต่างชาติ
“EGGidea was found with passionate objectives to be a startup partner and a bridge between startups in Thailand and the globe.”
ทีม Contributor แม้อาจจะไม่ใช่คนที่เก่งหรือมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับประเทศ แต่ผมคิดว่า เราทุกคนก็ตั้งใจที่จะทำมันขึ้นมา
ไม่ว่าจะเป็นการพยายามหาไอเดียธุรกิจใหม่ๆ มาแชร์ พร้อมทั้งชี้และตีแผ่ให้เห็นเบื้องลึกว่า Business Model ที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง มีอะไรบ้าง
การนำองค์ความรู้ทั้งจากแวดวงการศึกษา วงการธุรกิจ และประสบการณ์ตรง มารวบรวมไว้ที่นี่
หรือการมีที่ปรึกษาเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นคุณวรวฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OfficeMate อาจารย์ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย คุณสมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี เอ็มดีของเพย์สบาย ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผอ.ของ Software Park และ คุณภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ เจ้าของเว็บไซต์tarad.com และ ZocialRank
โดยท่านที่ปรึกษาเหล่านี้ จะคอยให้แนะนำ หรือ ชี้ทิศ ย่อมสำคัญมากกว่าการเดินไปอย่างไร้ทิศทาง
สุดท้ายแล้วการทำหน้าที่สื่อ ช่วยผลักดัน ทำให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้จะเป็นงานที่ยาก แต่ก็จะพยายามให้ดีที่สุด
ทีมงาน EGGidea ทุกคน พร้อมจะเป็นคู่คิดของ Startup ทุกรายเพื่อบรรลุในสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้ครับ:)