คอลัมน์ จับจิตด้วยใจ
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ www.newheartnewlife.net
————————————————————————————————–
ถ้าจะมองจากความรู้ของสมองสามชั้นคือ สมองชั้นนอกที่เกี่ยวกับคิด สมองชั้นกลางที่เกี่ยวอารมณ์ความรู้สึกและสมองชั้นในสุดที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย
โดยมีสมมติฐานว่าการทำงานของสมองทั้งสามชั้นควรจะต้องมีความสมดุล
เพราะมนุษย์ในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะใช้ “ความคิด” มากเกินไป ทำให้เสียสมดุล การกลับมาใช้สมองด้านอารมณ์ความรู้สึกและสมองส่วนของร่างกายให้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นการปรับสมดุลอย่างหนึ่งให้กับมนุษย์ได้
“การขอบคุณ” เป็นการเริ่มต้นของการใช้พลังงานด้านบวกของหัวใจ ซึ่งเชื่อมโยงกับการทำงานสมองชั้นกลางที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก
ลองสังเกตดูด้วยตัวเองก็ได้นะครับว่า เมื่อ “เราเริ่มต้นขอบคุณ” อะไรสักอย่างหรือใครสักคน หลายๆ คนจะรู้สึก “หัวใจพองโต” อิ่มเอิบอบอุ่นที่บริเวณทรวงอกของเรา
ในค่ำคืนของเวิร์กช็อปบางวันบางครั้งเมื่อมีโอกาส ผมก็จะตั้งโจทย์กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า ให้ลองลิสต์รายการที่คุณรู้สึกขอบคุณอะไรหรือใครหรือแม้แต่เหตุการณ์อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับคุณในวันนี้ดูสักสิบรายการ
เราก็จะพบกับ “บรรยากาศของความนิ่งสงบและมีความสุข” อย่างรวดเร็วเมื่อทุกคนจดจ่ออยู่กับการเขียนรายการขอบคุณของตัวพวกเขาเอง และส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวลาที่มนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่มนั้น จะเกิดพลังงานที่เชื่อมโยงถึงกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้อย่างเป็นธรรมชาติ
ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ (กรกฎาคม 2552) ผมได้มีโอกาสโทรศัพท์พูดคุยกับคุณแม่ของผม ผมนึกขึ้นมาได้ว่ากิจกรรมนี้คุณแม่ของผมยังไม่เคยได้ลองทำผ่านการเขียน ก็เลยขอให้คุณแม่ไปนำสมุดบันทึกและปากกามา เขียนเลขหนึ่งถึงสิบ จากบนลงล่างเหลือเนื้อที่ด้านขวาว่างๆ เอาไว้
จากนั้นก็ตั้งโจทย์การขอบคุณนี้ให้กับคุณแม่ว่า วันนี้ทั้งวันแม่มีอะไรหรือใครที่อยากจะขอบคุณบ้าง
ผมนึกไปเองว่า “โจทย์ง่ายๆ” เพราะเคยทำเองก็ไม่พบว่ายากอะไร และก็เคยลองทำในเวิร์กช็อปก็เห็นว่าใครๆ ก็เขียนกันได้ แต่ก็ไม่เคยลองให้ผู้เข้าร่วมสะท้อนให้ฟัง เพราะเห็นว่าเป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ เพื่อเสริมแทรกเข้ามาเท่านั้นเอง
คุณแม่ของผมบอกว่า “นึกไม่เห็นออกเลย” ว่าจะมีอะไรน่าขอบคุณ ทั้งๆ ที่การพูดคุยกันในวันนั้นเป็นช่วงเวลาเย็นแล้ว
อืมมม เป็นอะไรที่เหนือความคาดหมายของผมไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่ลดละความพยายาม เพราะไปตั้งตัวเลขให้แม่ไว้ตั้งสิบข้อ ก็เลยบอกท่านว่า เออ.. ลองลดเหลือสักห้าข้อก่อนก็ได้ครับ แม่ลองนึกๆ ดูว่าตั้งแต่เช้าตื่นมาทำอะไรบ้างมีอะไรที่พอจะ “หาเรื่องขอบคุณ” ได้บ้าง
ท่านก็บอกว่า ตื่นเช้ามาก็สวดมนต์ไหว้พระ…อ๋อ อยากขอบคุณพระพุทธเจ้า ผมรีบบอกว่า อืมม ได้เลยแม่ นี่ก็หนึ่งข้อแล้ว ท่านเริ่มหัวเราะออกมา ประมาณว่าดีใจที่เริ่มทำโจทย์การบ้านที่ผมให้ไปได้บ้างแล้ว
จากนั้นท่านก็ยังนึกไม่ออกว่าพอจะขอบคุณอะไรได้อีกบ้าง ผมก็ลองช่วยด้วยการบอกว่าจากนั้นแม่ทำอะไรอีก คุณแม่ก็บอกว่าสวดมนต์ไหว้พระแล้วก็กินข้าวเช้า
“อืมมม แม่ไม่อยากขอบคุณเมล็ดข้าวและกับข้าวที่แม่กินบ้างเหรอ” ผมถาม
ท่านหัวเราะดังและยาวขึ้นอีก “อะไรกัน เมล็ดข้าวนี่ก็ขอบคุณได้ด้วยเหรอ?” ท่านบอกว่าท่านรู้คุณของเมล็ดข้าวทุกเมล็ดมาตลอดชีวิตของท่าน ท่านไม่เคยทิ้งขว้างเมล็ดข้าวเลยสักเมล็ด ผมก็บอกว่า แบบนี้ก็นับได้ว่าเป็นการขอบคุณแล้วครับ ความรู้สึกแบบนี้แหละ
ท่านก็เขียนลงไปในรายการของท่าน พร้อมๆ กับเสียงหัวเราะที่เริ่มยาวขึ้น
จากนั้นผมก็ค่อยๆ ช่วย “แคะความรู้สึกขอบคุณ” ของท่านออกมาจากชีวิตประจำวันของท่านได้มากขึ้นเรื่อยๆ ไปสู่แม่บ้านที่ช่วยทำอาหาร น้องชายที่อยู่ที่บ้าน เพื่อนบ้านที่นำขนมมาให้ ฯลฯ
จนได้ครบสิบข้อ
ท่ามกลางเสียงหัวเราะของท่านที่แม้ในระยะหลังๆ นี้ท่านจะหัวเราะได้บ่อยมากขึ้น แต่ผมก็ไม่เคยได้ยินเสียงหัวเราะที่ดังขึ้นและนานขึ้นและบ่อยครั้งแบบนี้มานานแล้ว ท่ามกลางความรู้สึกที่ทำให้หัวใจของผมพองโตเต็มอกไปด้วย
คือบางทีเราเผลอไปตั้ง “มาตรฐานการขอบคุณ” ของเรา “สูงเกินไป”
บางทีเราเผลอไปมองว่า “การขอบคุณเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่” เกินไป เช่น จะต้องเป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่าดีจริงๆ สำคัญจริงๆ ยิ่งใหญ่จริงๆ เราถึงจะสามารถรู้สึกขอบคุณได้ การตั้งมาตรฐานการขอบคุณของเราแบบนั้นบางทีก็ได้ทำให้หัวใจของเรา “ขาดการหล่อเลี้ยง” ไปอย่างน่าเสียดาย
บางทีหัวใจของเราอาจจะไม่ได้จำเป็นต้อง “รอฝนห่าใหญ่” อย่างเดียวเท่านั้นนะครับ “การรดน้ำ” เพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่บ่อยๆ และสม่ำเสมอ ก็จะเป็นหนทางที่ทำให้หัวใจของเราชุ่มฉ่ำได้ไม่น้อยเลย
เราจะเห็นนะครับว่า อารมณ์ความรู้สึกด้านบวกนั้น “หลบซ่อน” อยู่ในชีวิตประจำวันของเราไม่น้อยเลย เมื่อเราสามารถมี “แคะอารมณ์บวก” บางอย่างบางเรื่องให้ผุดขึ้นมาได้ อารมณ์บวกอื่นๆ ก็จะถูกชวนกันให้ออกมาปรากฏตัวมากขึ้น การขอบคุณนำมาสู่การหัวเราะที่มีความสุขได้ อาจจะนำมาสู่ความรู้สึกดีๆ กับตัวเราเองได้
อย่างไรก็ตาม ผมยอมรับว่าในเบื้องต้นก็อาจจะเขียน “รายการขอบคุณ” ก็อาจจะไม่สามารถเขียนได้ง่ายๆ และหลายๆ ท่านก็อาจจะนึกไม่ออกเหมือนกับตัวอย่างคุณแม่ของผม
อยากจะแนะนำให้ลองเริ่มต้นแค่สามรายการดูก่อน
ช่วงแรกๆ ก็อาจจะรู้สึกแปลกๆ หรือยังไม่ค่อยรู้สึกอะไรชัดเจนนัก อยากให้ “ลองหาเรื่อง” ขอบคุณไปเรื่อยๆ คุณจะพบว่ารายการขอบคุณของคุณจะค่อยๆ ยาวขึ้นเอง อาจจะทำเป็นเกมในครอบครัว ช่วยกันดูว่าในแต่ละวันเรามีอะไรที่จะขอบคุณได้บ้าง
ค่อยๆ ชวนเขียนกันไปแบบนี้ หัวใจของเราก็จะค่อยๆ พองโตไปด้วยความสุขทีละนิดๆ ได้เองครับ
—————————————————————————————————–
ผมจะขอบคุณอย่างนี้เรื่อยไป