Categories
ภาวะผู้นำ

สุดยอดผู้นำต้องมุ่งมั่น แต่ถ่อมตัว

มองมุมใหม่ : ดร.พสุ เดชะรินทร์ [email protected] กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2548

ท่านผู้อ่านคงจะได้อ่าน ข่าวของหนึ่งในสองผู้บริหารสูงสุดของดีแทค (คุณซิคเว่ บริคเก้) ที่กลับเข้ามาบริหารบริษัทอีกครั้ง ด้วยความมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนบริษัทที่ดี (Good Company) เป็นบริษัทที่สุดยอด (Great Company) หรือถ้าเป็นศัพท์ที่เขาใช้ก็จะต้องเป็น Good to Great หรือแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ในอีกสี่ปีข้างหน้าเป็นการสร้าง ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านพิจารณาดูดีๆ แล้วจะพบว่า ความหมายของผู้บริหารทั้งสองท่านก็ไม่ได้ต่างกันเท่าใด

ผมเลยย้อนกลับไปอ่านหนังสือ Good to Great ของ Jim Collins อีกครั้ง จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2001 และขายดีมาก จนกระทั่งในปัจจุบันก็ยังเป็นหนังสือขายดีติดอันดับของ Amazon.com อยู่ กลับไปอ่านทบทวนในบทแรกๆ ก็เจอบทที่เกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำที่เขาเรียกว่า ผู้นำระดับ 5 ซึ่งเป็นคุณลักษณะของผู้นำที่สามารถปรับเปลี่ยนองค์กรได้

ก่อนลงไปในรายละเอียด เรื่องของภาวะผู้นำระดับ 5 จะต้องชี้แจงให้ท่านผู้อ่านเข้าใจลักษณะของหนังสือเล่มนี้ก่อน ในหนังสือ Good to Great ผู้เขียนได้ทำการศึกษาวิจัยองค์กรชั้นนำของอเมริกาย้อนกลับไปหลายสิบปี และหาว่า มีบริษัทไหนบ้างที่สามารถปรับเปลี่ยนตนเองจากบริษัทดีๆ ธรรมดาๆ เป็นบริษัทสุดยอดได้บ้าง

จากนั้นก็ศึกษาต่อว่า บริษัทที่สามารถปรับตนเองให้เป็นบริษัทที่สุดยอดได้จะต้องมีคุณลักษณะหรือ องค์ประกอบอะไรบ้าง และในขณะเดียวกันเพื่อจะทำให้ภาพเกิดความชัดเจนขึ้น ทาง Jim Collins ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ยังได้ศึกษาองค์กรอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันแต่ไม่สามารถปรับตนเองจากบริษัทชั้นดีให้เป็นบริษัทที่ สุดยอดได้ ว่ามีคุณลักษณะหรือองค์ประกอบที่แตกต่างจากบริษัทในกลุ่มแรกอย่างไร

ในระยะแรกของการวิจัย Jim Collins ไม่พยายามที่จะหาคุณลักษณะที่เหมือนกันของผู้นำในองค์กรที่สามารถเปลี่ยนจาก ดีธรรมดามาเป็นดีสุดยอดได้ เนื่องจากในระยะแรกเขามีความเชื่อว่า ถ้ามุ่งแต่ที่ประเด็นผู้นำอย่างเดียว ก็จะทำให้ไม่ต้องศึกษาในเรื่องอื่นๆ เพราะทุกอย่างก็จะยกประโยชน์หรือโทษผู้นำ ไม่ว่าองค์กรจะประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว ก็มักจะโยนไปที่ผู้นำหมด แต่สุดท้ายจากหลักฐานต่างๆ ที่หามาได้ก็ทำให้ Jim Collins ยอมจำนนและสรุปได้ว่าคุณลักษณะของผู้นำมีผลสำคัญต่อความสามารถในการเปลี่ยน องค์กรดีธรรมดา ให้เป็นองค์กรที่ดีสุดยอดได้

เขากล้าสรุปออกมาเลยครับ ว่า ในองค์กรเหล่านั้นคุณลักษณะและคุณสมบัติของผู้นำจะมีลักษณะที่เหมือนๆ กันหมด เรียกได้ว่า ออกมาจากเบ้าหลอมเดียวกัน ไม่ว่าองค์กรดังกล่าวจะอยู่ในธุรกิจใด หรือเป็นองค์กรที่อยู่ในช่วงกำลังเผชิญวิกฤติหรือกำลังเติบโต หรือเป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก เรียกได้ว่า ผู้นำขององค์กรที่ดีสุดยอดจะมีลักษณะที่คล้ายหรือเหมือนกันเกือบหมด ซึ่งสิ่งที่ทางผู้เขียนหนังสือสรุปมาจากผลการศึกษาวิจัยล้วนๆ

—————————————————————-

เนื่องจากเป็นการยากที่ จะหาชื่อที่เหมาะสมสำหรับเรียกผู้นำขององค์กร เขาก็เลยเรียกด้วยภาษาง่ายๆ ครับว่า เป็นผู้นำในระดับที่ 5 โดยได้มีการแบ่งว่าเมื่อคนเราก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำนั้น จะสามารถแบ่งผู้นำที่ดีออกเป็น 5 ระดับ

ระดับที่ 1 High Capable Individual เป็นผู้ที่มีความสามารถส่วนตัวที่ดี ทั้งทักษะ ความรู้ ความสามารถ และพฤติกรรมในการทำงานที่ดี ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร

ระดับที่ 2 Contributing Team Member เป็นผู้ที่สามารถทำงานเป็นทีมได้ดี เป็นพวกที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น และช่วยให้กลุ่มและทีมบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

ระดับที่ 3 Competent Manager เป็นผู้บริหารที่สามารถบริหารบุคลากรและทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายขององค์กร

ระดับที่ 4 Effective Leader เป็นพวกผู้นำที่สามารถทำให้ทุกคนเกิดความมุ่งมั่น มีการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และสามารถจูงใจให้บุคลากรทุกคนทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์

จะเห็นว่า ในสี่ระดับต้นนั้นจะเป็นลักษณะของบุคลากร และผู้นำในองค์กรที่เราพบเจอในหนังสือทางด้านภาวะผู้นำทั่วๆ ไป แต่ในองค์กรที่สามารถปรับตนเองจากดีธรรมดา ให้เป็นดีสุดยอดได้นั้น ลักษณะผู้นำจะเป็นผู้นำในระดับที่ 5 ได้นั้นมีความเป็นผู้นำในสี่ระดับได้ก่อน แต่ระดับที่ห้าจะมีความแตกต่างก็คือ ผู้นำจะต้องสร้างความสุดยอดยั่งยืนให้กับองค์กรได้ด้วยคุณสมบัติที่ดูเหมือน จะขัดกัน ระหว่างความมุ่งมั่นที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จกับความถ่อมตัว

ความมุ่งมั่นต่อความ สำเร็จ และความถ่อมตัวนั้นเป็นคุณสมบัติที่ขัดแย้งกัน และดูเหมือนว่าไม่ควรจะอยู่ด้วยกันได้ แต่สิ่งที่ Jim Collins พบจากการศึกษาวิจัยก็คือ ในตัวผู้นำที่สร้างปรับเปลี่ยนองค์กรจากดีธรรมดาให้เป็นดีสุดยอดได้ จะมีปัจจัยทั้งสองประการอยู่ด้วยกัน

การที่ผู้นำระดับที่ 5 ถ่อมตัวนั้น ก็ไม่ได้หมายความผู้นำจะต้องขี้กลัว ไม่กล้า หรือขาดความทะเยอทะยาน ผู้นำอาจจะไม่ชอบความมีชื่อเสียง หรือ ชอบเป็นจุดสนใจของคนทั่วไป แต่ผู้นำเหล่านี้ก็มีความมุ่งมั่น และทะเยอทะยาน สำหรับองค์กร ไม่ใช่เพื่อตนเองหรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

ผู้นำเหล่านี้เป็นผู้ที่ มีบุคลิกภาพที่ขัดแย้งกันก็ได้ นั้นคือ มุ่งมั่นและต้องการที่จะนำความสำเร็จมาสู่องค์กร แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคนถ่อมตัว ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะทำเพื่อตนเอง แต่เป็นองค์กรเป็นหลัก ลองมอง และหารอบๆ ตัวดูนะครับว่า พบผู้นำที่มีลักษณะดังกล่าวบ้างหรือไม่ สัปดาห์หน้าผมจะมาอธิบายรายละเอียดของผู้นำระดับที่ 5 กันต่อครับ

—————————————————————–

สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เริ่มต้นเกี่ยวกับแนวคิดของผู้นำในระดับที่ 5 ซึ่ง Jim Collins ได้เขียนถึงไว้ในหนังสือขายดีและชื่อดัง Good to Great

แนวคิดเกี่ยวกับผู้นำระดับที่ 5 นั้นแปลก และน่าสนใจในแง่ที่ว่าผู้นำขององค์กร ที่สามารถนำพาองค์กรของตนเอง จากองค์กรที่ดีแห่งหนึ่ง เป็นองค์กรที่ดีสุดยอดได้นั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันในตัวเอง นั้นคือ ผู้นำจะเป็นคนที่ถ่อมตัว ไม่ชอบโอ้อวดหรือตกเป็นข่าว แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นต่อการนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ สัปดาห์นี้เรามาดูถึงลักษณะที่น่าสนใจเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้นำระดับที่ 5 กัน

คุณสมบัติที่สำคัญสำหรับ ผู้นำที่เป็นผู้นำระดับ 5 นั้นคือ ความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานต่อความสำเร็จขององค์กรเป็นอันดับแรก จนกระทั่งอาจกล่าวได้ว่าผู้นำเหล่านี้ต้องการเห็นความสำเร็จขององค์กร มากกว่าความสำเร็จและความร่ำรวยของตนเอง

ผู้นำประเภทนี้เรียกได้ ว่ามีความรัก และภักดีต่อองค์กรเป็นอย่างสูง เสียสละได้แม้กระทั่งความสุขหรือความสำเร็จส่วนตัว เพื่อความสำเร็จขององค์กร พวกผู้นำที่มุ่งเน้นความสำเร็จของตนเองก่อน ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง เกียรติยศ ทรัพย์สิน หรือความสำเร็จ จะยังไม่ถือว่าเป็นผู้นำระดับห้าที่จะนำพาองค์กรของตนเองจากองค์กรดีธรรมดา เป็นองค์กรที่ดีสุดยอดได้ครับ

นอกจากนี้ผู้นำเหล่านี้ ยังต้องการเห็นความสำเร็จขององค์กรตนเองยั่งยืนและยืดยาวไปถึงผู้บริหารรุ่น ต่อไป โดยผู้นำเหล่านี้ยอมที่จะอยู่หลังฉากเงียบๆ และไม่ชอบที่จะเปิดเผยตัวว่าเป็นผู้สร้างรากฐาน และความสำเร็จสำหรับผู้นำรุ่นต่อไป

ผมเองก็พบผู้นำในลักษณะ นี้อยู่เหมือนกันที่จะมองว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นจะเป็นรากฐานสำหรับความ สำเร็จ และความยั่งยืนขององค์กรในยุคต่อไป โดยไม่สนใจว่าผู้นำในยุคต่อไปจะคำนึงถึงรากฐานที่ได้วางไว้หรือไม่ ซึ่งผู้นำเหล่านี้จะตรงกันข้ามกับผู้นำธรรมดาหลายๆ คนที่มุ่งมั่นต่อความสำเร็จของตนเองเป็นหลัก

ผู้นำประเภทหลังจะมุ่ง มั่นแต่ความสำเร็จขององค์กรในยุคที่ตนเองเป็นผู้นำ แต่ไม่ให้ความสนใจต่อการวางรากฐานต่อความสำเร็จขององค์กรในยุคต่อไป ดังนั้นท่านผู้อ่านอาจจะเจอผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการนำพาองค์กรสู่ความ สุดยอดได้แต่ไม่ถือเป็นผู้นำระดับที่ห้า เนื่องจากพอผู้นำเหล่านี้หลุดพ้นจากตำแหน่ง องค์กรก็เริ่มตกต่ำลง เนื่องจากขาดการวางรากฐานสำหรับความสำเร็จไว้ตั้งแต่ต้น

คุณสมบัติที่สำคัญอีก ประการหนึ่งของผู้นำระดับที่ห้า ก็คือ เป็นผู้ที่ถ่อมตัวและไม่ถือตัวเองเป็นหลัก ท่านผู้อ่านอาจจะสังเกตได้นะครับว่า เวลาพูดกับผู้บริหารที่เป็นผู้นำในระดับที่ห้า ผู้บริหารเรานั้นจะไม่พูดถึงสิ่งที่ตนเองได้ทำเลย แต่จะพูดถึงสิ่งที่ผู้บริหารหรือผู้ร่วมทีมคนอื่นได้ทำให้กับองค์กร ซึ่งจะต่างจากผู้นำที่เราเห็นหลายคนที่ชอบถือตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และมักจะมองว่าความสำเร็จขององค์กรนั้นเกิดขึ้นจากตัวเองเป็นหลัก

เราอาจจะถือได้ว่า ผู้นำระดับที่ห้านั้นจะค่อนข้างเป็นคนที่ถ่อมตัว เก็บตัว เงียบ ขี้อาย หรือแม้กระทั่งหลายครั้งอาจจะดูไม่มั่นใจ บุคคลเหล่านี้ไม่มีและไม่เคยมีความต้องการที่จะเป็นผู้นำประเภทที่โดดเด่น เป็นที่รู้จักของวงการ

ในขณะเดียวกันผู้นำ ประเภทนี้ก็ไม่ได้เป็นคนใจอ่อนหรือโลเล สิ่งที่ Jim Collins พบจากงานวิจัยของเขาก็คือ ผู้นำที่สามารถนำพาองค์กรสู่ความสุดยอดได้นั้น จะมีความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จขององค์กรเป็นอย่างสูง และจะทำทุกอย่างและทุกวิธีทาง (ในสิ่งที่ถูกต้องนะครับ) เพื่อนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ

หลายๆ ครั้งเราอาจจะเจอผู้นำประเภทที่ห้าที่อาจจะดูใจร้ายก็ได้ เช่น ไล่ญาติตนเองออก หรือปิดโรงงานบางแห่งไป ซึ่งถึงแม้จะดูใจร้ายแต่ก็ทำเพื่อความสำเร็จขององค์กร

นอกจากนี้คุณลักษณะที่ สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้นำระดับที่ห้าก็คือ ผู้นำเหล่านี้มักจะมาจากภายในองค์กร จากหลักฐานงานวิจัย เขาจะไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำระดับที่ห้า กับการเป็นผู้บริหารที่มาจากภายนอกองค์กร

คุณลักษณะที่น่าสนใจอีก ประการก็คือ ผู้นำในระดับที่ห้าจำนวนมากมักจะพูดถึงความสำเร็จขององค์กรว่าสาเหตุหลัก ประการหนึ่งมาจากดวงหรือโชค เช่นผู้บริหารที่เป็นผู้นำระดับที่ห้าคนหนึ่งระบุเลยครับว่า สาเหตุที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จก็คือ ความโชคดีที่เขาสามารถหาคนที่จะมาแทนเขาได้เหมาะสม หรือผู้บริหารอีกท่านหนึ่งที่เขียนหนังสือออกมา (ไม่ได้อยากจะเขียนนะครับ แต่ทนการขอร้องของลูกน้อง และเพื่อนร่วมงานไม่ได้) ยังตั้งชื่อหนังสือไว้อย่างเก๋ไก๋เลยว่า I’m a Lucky Guy หรือ ผมเป็นคนโชคดี

หนังสือ Good to Great เขียนไว้ดีครับว่า ทำไมผู้บริหารเหล่านี้ถึงมักจะให้ความสำคัญกับโชค ทั้งนี้เนื่องจากผู้นำระดับที่ห้า เมื่อสามารถนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ ก็มักจะมองออกไปจากตัวเองเพื่อหาบุคคลหรือเพื่อนร่วมงานที่จะรับความดีความ ชอบในการเป็นผู้มีส่วนร่วมและผลักดันต่อความสำเร็จขององค์กร แต่ถ้าหาไม่ได้ ก็มักจะไปลงเอยที่โชค เรียกได้ว่าเมื่อมีความสำเร็จเกิดขึ้น ก็มักจะชอบนึกว่าเป็นโชคดีของตนเองที่มีเพื่อนร่วมงานและลูกน้องที่ดี

ในขณะเดียวกันเมื่อ เหตุการณ์ไม่ดีผู้นำเหล่านี้จะไม่โทษโชคชะตา แต่จะมองว่าสาเหตุของความผิดพลาด และล้มเหลวนั้นมาจากตนเอง ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะตรงกันข้ามกับผู้นำทั่วๆ ไป ที่เมื่อสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นก็มักจะโทษโชค แต่เมื่อมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นก็มักจะหันกลับมามองที่ตัวเอง และคิดว่าตัวเองเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ

ท่านผู้อ่านลองดูนะครับว่า พอจะรู้จักหรือรู้ว่ามีใครเป็นผู้นำระดับห้าบ้างไหม เหมือนกับจะหาไม่ยากแต่จริงๆ หายากนะครับ

ที่มา – http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=059d9dcf02c74af9

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.