Categories
Startup

[J-Seed Ventures] หลุมพราง 7 ประการที่สตาร์ตอัพมักทำผิดพลาด

เมื่อวันพุธที่ 1 ตุลาคม 2557 ผมได้ไปร่วมงานของ True Incube งานนี้ด้วย ตอนที่คุณ Jeffrey Char พูด ผมนั่งฟังเพียงอย่างเดียวไม่ได้จดรายละเอียดไว้ เพียงแต่โน้ตจุดสำคัญเพื่อเก็บไว้ทบทวน เพราะมัวแต่เตรียมตัวขึ้น pitch ในช่วง Co-founder dating (ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนเพราะจำวันผิด มารู้ตัวตอน 15.30น. แล้ว ซึ่งงานจะเริ่ม 18.00น. แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ขึ้น pitch เพราะตอนนั้นพยายามขายไอเดียเพื่อชักชวนคุณ Art และคุณ Aun มาร่วมทีม) โชคดีที่ทาง blognone เอามาลงไว้ที่ https://www.blognone.com/node/61146 ผมเลยเอามาเก็บไว้ซะหน่อย เพื่อเก็บไว้ทบทวน

ในงานแถลงข่าวของ True Incube เมื่อวานนี้ มีพาร์ทเนอร์ร่วมจัดงานคือคุณ Jeffrey Char ซีอีโอของ J-Seed Ventures บริษัทลงทุนด้านเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น มาร่วมบรรยายด้วย

คุณ Jeffrey เป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์สูง เปิดบริษัทมาแล้ว 15 แห่ง ภายหลังผันตัวมาเป็นนักลงทุน และเดินสายบรรยายเรื่องผู้ประกอบการตามสถาบันการศึกษาทั่วโลก

หัวข้อการบรรยายของคุณ Jeffrey Char พูดเรื่อง “หลุมพราง 7 ประการของสตาร์ตอัพ” (7 Pitfalls That Can Kill Your Startup) น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการในบ้านเรา

J-Seed Venture

คุณ Jeffrey บอกว่าสอนวิชาสตาร์ตอัพมาเยอะ เจอปัญหาที่ซ้ำๆ กัน เลยอยากนำเสนอประเด็นพวกนี้ให้สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ๆ ได้เรียนรู้ไว้ จะได้ไม่ทำพลาดซ้ำกันอีก

อย่างแรกสุดเลยคือสตาร์ตอัพมักคิดว่า “ไอเดีย” ของตัวเองเจ๋งมาก และหลงใหลในไอเดียของตัวเอง จนละเลยความเป็นจริงทางธุรกิจ ซึ่งคุณ Jeffrey แนะนำว่าควรเริ่มต้นจาก “ปัญหา” ไม่ใช่ “ไอเดีย” ให้ดูก่อนว่าเรื่องที่เราสนใจมีปัญหาอะไร แล้วค่อยหาวิธีแก้ปัญหานั้น

การเริ่มต้นที่ “ปัญหา” จะช่วยให้เราอยู่กับโลกความเป็นจริงมากขึ้น เพราะปัญหามีอยู่จริง (แค่ยังไม่ถูกแก้ไข) แต่ไอเดียนั้นไม่รู้เลยว่าจะใช้งานได้จริงหรือไม่

J-Seed Venture

ประเด็นที่สองต่อเนื่องมาจากประเด็นแรก คือเรารีบลงมือสร้างผลิตภัณฑ์เร็วเกินไป กระบวนการที่ถูกต้องคือทดสอบ “ปัญหา” ก่อนว่ามันมีจริงหรือไม่ มันร้ายแรงแค่ไหน ข้อสันนิษฐานต่างๆ ของเราถูกต้องหรือไม่ จากนั้นค่อยลงมือสร้างผลิตภัณฑ์

J-Seed Venture

หลุมพรางประการที่สามคือเรามัวแต่ไปจดจ่อกับการสร้าง “ผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์” ซุ่มทำอยู่นาน พอทำเสร็จแล้วพบว่าไม่มีใครสนใจเราเลย

กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องคือค่อยเป็นค่อยไป สร้างต้นแบบขั้นต่ำ (MVP หรือ minimum viable product) ขึ้นมาก่อน แล้วค่อยๆ รับฟังความเห็นจากลูกค้า ก่อนจะปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของเราไปเรื่อยๆ วิธีนี้จะช่วยให้เราอยู่กับโลกความเป็นจริงได้ดีขึ้น

J-Seed Venture

ประการที่สี่ ระดมทุนเร็วเกินไป คุณ Jeffrey บอกว่าการได้เงินมาเร็วเกินไปทำให้เราใช้เงินเปลือง และ “สิ้นเปลืองความสัมพันธ์” (burn relations) ของเรากับคนที่ควรจะพึ่งพิงได้ไปอย่างที่ไม่สมควรจะเป็น

ทางแก้ปัญหาก็ให้กลับไปที่ข้อแรกคือ กลับไปโฟกัสที่ปัญหาก่อน ถ้ายังหาวิธีแก้ปัญหาไม่ได้จริง อย่าเพิ่งระดมทุน

J-Seed Venture

หลุมพรางอย่างที่ห้า ขยายตัวเร็วเกินไป เป็นประเด็นที่ควบคู่ไปกับการระดมทุนเร็วเกินไป

คุณ Jeffrey เล่าประสบการณ์ว่าเขาเคยเปิดบริษัทแห่งหนึ่ง ตอนเดือนกุมภาพันธ์ยังไม่มีพนักงานเลย พอถึงเดือนธันวาคม มีพนักงานมากถึง 100 คน อัตราการเติบโตขนาดนี้คุมไม่ได้ สุดท้ายบริษัทนี้เจ๊ง

J-Seed Venture

หลุมพรางอย่างที่หก วัฒนธรรมองค์กร

คุณ Jeffrey แนะนำให้สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีขึ้นมา เพราะจะมีประโยชน์มากในระยะยาว องค์กรที่มีวัฒนธรรมแข็งแรงจะมีขั้นตอนการตัดสินใจน้อย คนในองค์กรจะระลึกถึงวัฒนธรรมองค์กรเสมอแล้วตัดสินใจได้ว่าควรทำหรือไม่ควร ทำอะไร

เทคนิคการสร้างวัฒนธรรมองค์กรคือเลือกคำที่เราอยากให้เกิดเป็นค่านิยมของ องค์กรมาสัก 1-2 คำ แล้วพูดย้ำเรื่องนี้อยู่เสมอเพื่อให้คนทั้งองค์กรจดจำได้ ส่วนค่านิยมจะเป็นอะไรนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจ

J-Seed Venture

หลุมพรางอย่างสุดท้าย จงสร้างทีมที่มีทักษะแตกต่างหลากหลาย เพราะการสร้างธุรกิจจำเป็นต้องใช้ทักษะหลายๆ อย่าง เราไม่ควรนำเพื่อนร่วมทีมที่มีทักษะประเภทเดียวกันมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

คุณ Jeffrey แนะนำให้เราหัดทำความรู้จักกับคนหลายๆ ประเภท ถึงแม้จะฝืนอยู่บ้างในช่วงแรกๆ เพราะธรรมชาติของคนมักนิยมคุยกับคนที่สนใจหัวข้อเดียวกันมากกว่า แต่ถ้ามองถึงประโยชน์ระยะยาวแล้ว ก็ควรเป็นเพื่อนกับคนหลายๆ แบบ

J-Seed Venture