Categories
ภาวะผู้นำ

คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ตอบ นศ. ปริญญาเอก”ฮาร์วาร์ด” ผู้นำ 5 ระดับ แบบตะวันออก เป็นอย่างไร ?

จาก คุยกับซี.พี

ถ้าเปรียบการบริหารองค์กรเสมือนกับการทำสงคราม “ผู้นำ” ก็ปรียบเสมือน “แม่ทัพ” ที่จะต้องวางแผน วางกลยุทธ์ให้ลูกทัพปฏิบัติตาม หากวางแผน หรือบริหารงานผิดพลาดจะส่งผลกระทบกับองค์กรและบุคคลากรในองค์กร
ท่ามกลางความหลากหลายขององค์กรในปัจจุบัน “ผู้นำ”ควรมีรูปแบบเป็นอย่างไร จึงจะนำพาองค์กรให้ก้าวต่อไปในโลกอันกว้างใหญ่ได้
เมื่อเร็วๆ นี้มีนักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มาขอสัมภาษณ์ผมเพื่อทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่อง “ภาวะผู้นำแบบตะวันออก” ผมอยากนำเอาคำตอบในวันนั้นมาแบ่งปันให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้างสำหรับคนที่เป็นผู้นำอยู่ในปัจจุบัน และผู้ที่จะเป็นผู้นำในวันข้างหน้า
ตามความเข้าใจของผม แนวคิดแบบตะวันออกแบ่งผู้นำเป็น 5 ระดับ ดังนี้

ระดับล่างสุด คือ ผู้นำที่เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ รู้เท่าทันคน มียุทธวิธีและกลยุทธ์ที่แหลมคม มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นผู้นำที่ลูกทีมมั่นใจว่าจะพาทีมไปได้ตลอดรอดฝั่ง ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่เก่งฉลาด”
ระดับที่สอง คือ ผู้นำเก่งฉลาดบวกด้วยประสบการณ์ชีวิต รวมทั้งมีบทเรียนที่เคยผ่านความเจ็บปวดมาแล้ว และแน่นอนต้องผ่านการทำงานอย่างโชกโชนเพียงพอ เขาจะได้เข้าใจถึงกาลเทศะ เรื่องอะไรควรหนัก เรื่องอะไรควรเบา สิ่งใดควรรีบเร่ง สิ่งใดควรรั้งรอไว้ก่อน ประเด็นใดสำคัญมาก ประเด็นใดสำคัญน้อยกว่า ผู้นำระดับนี้ก็จะสร้างความมั่นใจได้มากขึ้นว่า จะไม่บุ่มบ่าม หุนหันพลันแล่น แต่จะมีวิธีแก้ปัญหาที่ยืดหยุ่น นุ่มนวล ถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น เท่ากับนำพาให้ทีมงานลดความเสี่ยงที่จะต้องพบเจอกับภาวะวิกฤตโดยไม่จำเป็น ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่มีปัญญา”
ระดับที่สาม คือ ผู้นำที่มีปัญญาแล้วยังสามารถเป็นที่พึ่งของลูกน้องได้ มีความเมตตากรุณาที่ใครเดือดร้อนก็จะมาพึ่งพาขอความช่วยเหลือ ลูกทีมที่อยู่ร่วมกันก็จะมีความรู้สึกผูกพัน อบอุ่น มั่นคง ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่มีน้ำใจ”
ระดับที่สี่ คือ ผู้นำที่เปิดทางสนับสนุนให้ลูกทีมได้ประสบความสำเร็จ บุคคลเหล่านั้นจะเคารพนับถือผู้นำชนิดนี้อย่างสุดจิตสุดใจ เพราะความสำเร็จในชีวิตของพวกเขาได้มาจากผู้นำคนนี้ ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่สร้างคน”
ระดับสูงสุด คือผู้นำที่ไม่ได้อยากเป็นผู้นำ แต่เป็นคนที่มีความสามารถนำพาองค์กรทั้งทีมฝ่าฟันผ่านพ้นวิกฤตไปได้โดยไม่มีกิเลสตัณหาคิดจะเป็นใหญ่ จึงทำทุกอย่างโดยไม่มีอะไรแอบแฝง โปร่งใสตรวจสอบได้ในทุกด้าน ดังเช่นปูชนียบุคคลที่ผมเคยเขียนแนะนำประวัติไว้สองท่าน คือ จอร์จ วอชิงตัน(1) และ เติ้งเสียวผิง(2) ซึ่งล้วนถูกเคี่ยวเข็ญให้ขึ้นมาเป็นใหญ่เพื่อกอบกู้วิกฤต และ พยายามขอถอนตัวจากไปอย่างเงียบๆ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่”
กล่าวโดยสรุป ผู้นำระดับที่หนึ่งและสองใช้ “สมอง” เป็นหลัก แต่ผู้นำที่สูงขึ้นมาในระดับสาม สี่ ห้า ต้องใช้ “หัวใจ” เป็นกลไกขับเคลื่อน แนวทางการบริหารจัดการแบบตะวันออกเน้นเรื่องหัวใจมากกว่าสมอง โดยยึดปรัชญาที่ว่า “คนจะใหญ่ หัวใจต้องใหญ่พอ”
ดังนั้น บุคคลที่ไม่ได้มีความสามารถโดดเด่นมากที่สุดหรือเก่งที่สุด แต่มีภาวะจิตใจอยู่ในระดับสาม สี่ ห้า ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงมักจะอยู่ในตำแหน่งระดับสูงขององค์กรใหญ่ๆ ที่บริหารตามแนวทางตะวันออก เพราะองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ยึดผลประโยชน์เป็นใหญ่ แต่ให้น้ำหนักกับเรื่องความสุขของทุกคนในทีมเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด

เชิงอรรถ
1 จอร์จ วอชิงตัน เข้าร่วมขบวนการปลดแอกจากอังกฤษจนสำเร็จ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว ก็กลับบ้านไปทำไร่ตามเดิม จนถูกพรรคพวกที่เคารพนับถือไปรบเร้าเชื้อเชิญให้กลับมาเป็นประธานาธิบดี และเมื่อดำรงตำแหน่งครบ 2 สมัย พรรคพวกก็จะแก้กฎหมายเป็นกรณีพิเศษให้ดำรงตำแหน่งต่อไปได้ แต่ จอร์จ วอชิงตัน กล่าวขอบคุณพร้อมตอบปฏิเสธไป
2 เติ้งเสี่ยวผิง เป็นผู้กอบกู้วิกฤตของสังคมจีนที่ถูกย่ำยีจนย่อยยับด้วยน้ำมือของ “แก๊งสี่คน” จนประเทศอ่อนแอและอับอายไปทั่วโลก เติ้งเสี่ยวผิงผลักดันให้เกิดการพัฒนาประเทศทุกๆ ด้านด้วยนโยบาย “สี่ทันสมัย” จนประเทศจีนเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาผงาดอยู่ในแถวหน้าของมหาอำนาจโลก แต่หลังจากปี ค.ศ.1978 จนถึง ค.ศ. 1997 ที่เขาเสียชีวิต เติ้งเสี่ยวผิงไม่ยอมรับตำแหน่งประธานาธิบดีหรือประธานพรรค ยอมรับเพียงแค่ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทหารเพียงตำแหน่งเดียว และหลังจากเขาเสียชีวิตมาจนถึงปัจจุบันปี ค.ศ. 2013 ยังไม่ปรากฎว่า เติ้งเสี่ยวผิงและลูกหลานร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินซุกซ่อนไว้

ที่มา : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1373885879&grpid=03&catid=03