Categories
เรื่องชวนคิด จากประสบการณ์

5 วิธีเลี้ยงลูกให้โตขึ้นมาเป็นโปรแกรมเมอร์ by อภิศิลป์ ตรุงกานนท์

พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกโตขึ้นมาเป็นหมอ วิศวกร นักกฎหมาย นักการเงิน แต่ในโลกยุคไอที เชื่อว่ามีพ่อแม่หลายคนที่อยากให้ลูกโตขึ้นมาเป็นโปรแกรมเมอร์ เพราะอาชีพนี้จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคที่มนุษย์ต้องการซอฟต์แวร์ใหม่ๆ บนอุปกรณ์ที่หลากหลาย คำถามคือพ่อแม่ควรเลี้ยงลูกยังไงให้โตขึ้นมาเป็นโปรแกรมเมอร์?

ออกตัวก่อนว่านี่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ เพราะผมถ่ายทอดจากประสบการณ์จริงของตัวเองว่าเติบโตขึ้นมาเป็นโปรแกรมเมอร์ได้ยังไง ซึ่งไม่ได้แปลว่าถ้าทำตามแล้วลูกจะโตขึ้นมาเป็นโปรแกรมเมอร์ได้จริง เพราะเด็กแต่ละคนต่างก็มีความสนใจที่ไม่เหมือนกัน เพียงแต่ถ้าเขามีหัวที่จะมาทางด้านนี้ได้ และได้รับการส่งเสริมจากพ่อแม่ ก็จะช่วยให้เขาค้นพบตัวเองได้เร็วขึ้น

1. สร้างจินตนาการด้วยตัวต่อเลโก้

เลโก้เป็นของเล่นสุดโปรดของเด็กที่มีแววว่าจะเติบโตขึ้นมาเป็นวิศวกร บรรดาวิศวกรซอฟต์แวร์ (โปรแกรมเมอร์) ที่ Google ล้วนเติบโตขึ้นมากับตัวต่อเลโก้ ผมเล่นเลโก้ตั้งแต่ตอนอยู่ประถม รอบแรกจะต่อตามแบบก่อน จากนั้นก็รื้อแล้วเอามาต่อตามจินตนาการของตัวเอง เวลาที่หัดเขียนโปรแกรมภาษาใหม่ๆ ผมจะเริ่มจากการเขียนตามตัวอย่างแล้วทำความเข้าใจไปทีละบรรทัดก่อน จากนั้นถึงจะตั้งโจทย์สนุกๆ ให้ตัวเองทำ

2. สร้างแรงบันดาลใจด้วยเกม

ผมว่าเด็กแทบทุกคนน่าจะชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์นะ แต่จะมีบางคนที่เล่นแล้วเกิดแรงบันดาลใจว่าอยากเขียนเกมแบบนี้บ้าง ตอนเด็กๆ ผมชอบเล่นเกมแนววางแผนอย่าง Romance of Three Kingdoms (สามก๊ก) หรือเกมตระกูล Sim แต่เกมเหล่านี้ไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผมมากนัก เพราะผมรู้สึกว่าเกมมันใหญ่เกินกว่าจะสร้างได้ด้วยตัวคนเดียว เกมที่ทำให้รู้สึกอยากเขียนเกมจริงๆ จะเป็นพวกแนว Puzzle มากกว่า เช่น Tetris หรือ Bejeweled ตอนเรียนปริญญาตรี ผมฝึกเขียนภาษา JavaScript ด้วยการเขียนเกม 4 เกมขึ้นมาสำหรับเล่นบน Web Browser เกมที่เขียนยากที่สุดแต่ภูมิใจที่สุดคือเกมที่เป็นลูกผสมระหว่าง Tetris กับ Bejeweled คือจะมีแท่งเพชร 3 เม็ดที่มีสีแตกต่างกัน ค่อยๆ หล่นลงมาจากด้านบน ผู้เล่นสามารถขยับซ้ายขวาหรือพลิกเป็นแนวนอนหรือแนวตั้งได้ ผู้เล่นจะต้องวางแท่งเพชรให้มีสีเดียวกันเรียงเป็นแนวตั้งหรือแนวนอน 3 เม็ดติดกัน เพชร 3 เม็ดนั้นก็จะระเบิด เพชรที่ซ้อนอยู่ด้านบนจะหล่นลงมา และถ้ามี 3 เม็ดสีเดียวกันเรียงกันอีก ก็จะเกิด Chain Reaction ผมทำเกมนี้ออกมาเป็น Experiment ส่วนตัว แต่ก็ได้รับการแนะนำลงในนิตยสารไอทีฉบับหนึ่ง

3. สร้างโจทย์สำหรับแฮก

ผมเชื่อว่าโปรแกรมเมอร์ที่ดีควรมีจิตวิญญาณของความเป็นแฮกเกอร์อยู่ในตัว ตอนเด็กๆ ที่บ้านผมมีอิเล็คโทนของเล่นอยู่เครื่องนึง ความยาวประมาณ 1 ฟุต มีปุ่มเล็กๆ ทั้งสีขาวและสีดำที่กดแล้วมีเสียงออกมาเหมือนอิเล็คโทนจริง ผมอยากรู้ว่าข้างในมันเป็นยังไงเลยจัดการหยิบไขควงขันน็อตแกะออกมาดู น่าเสียดายที่ผมประกอบมันกลับไปเป็นเหมือนเดิมไม่ได้ เกมสามก๊กหรือเกมตระกูล Sim ที่ผมชอบเล่น เราสามารถเซฟลงไฟล์แล้วใช้โปรแกรม Norton HEX Editor แฮกเข้าไปแก้ค่าเงินหรือค่าอื่นๆ ได้ ซึ่งก็ไม่รอดเงื้อมมือผม นอกจากนี้ผมยังเคยติดเกมหนักมาก (ช่วงนั้นปิดเทอม ว่าง ไม่มีอะไรทำ) จนพ่อเอากุญแจมาล็อคเครื่องคอมพิวเตอร์ (เคสคอมพิวเตอร์สมัยก่อนมีช่องเสียบรูกุญแจอยู่ข้างสวิทช์ เมื่อหมุนล็อคแล้วจะกดสวิทช์เปิดเครื่องไม่ได้) แถมมีแม่กุญแจแบบคล้องมาล็อคด้านหลังเคสไว้ไม่ให้ผมขันน็อตออกอีก สุดท้ายผมเลยเอาไขควงปากแบนมาหมุนรูกุญแจจนสามารถเปิดสวิทช์เครื่องได้ แล้วพ่อก็ได้รู้ว่าถ้าผมอยากเล่นคอมจริงๆ พ่อไม่มีทางห้ามผมได้

4. สร้างพื้นฐานความรู้ด้วยหนังสือและคอร์สฝึกอบรม

ที่บ้านผมมีเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ผมอยู่ประถม ระบบปฏิบัติการสมัยนั้นคือ DOS โปรแกรมหลักๆ ที่อยู่ในเครื่องคือ CU Word และ Lotus 1-2-3 ตอนนั้นพ่อผมซื้อหนังสือ Lotus 1-2-3 ของ อ.ประพัฒน์ อุทโยภาศ มาไว้ที่บ้าน ผมก็หยิบมาอ่านและตั้งโจทย์ให้ตัวเองด้วยการบันทึกรายจ่ายประจำวันลงใน Lotus 1-2-3 รวมถึงฝึกเขียน Macro เพื่อสร้างรายงานและกราฟตามที่ต้องการ พอขึ้น ม.1 พ่อก็ส่งไปเรียนเขียนโปรแกรมภาษา BASIC, Pascal และ C ที่ Siam Computer ช่วงนั้นสนุกมาก เขียน BASIC ผสมกับ DOS Batch File (อ่านเอาจากหนังสือ อ.ประพัฒน์ เช่นกัน) เพื่อทำโปรแกรมใส่แผ่นดิสก์ไปหลอกเพื่อนว่าเป็นเกม แต่ที่จริงมันจะทำการฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์เพื่อน แล้วก็ทำหน้าตาเฉยบอกเพื่อนว่า “สงสัยแผ่นเราจะติดไวรัสว่ะ” ตอนเรียน Pascal ก็เขียนโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์ส่งเสียงออกมาเป็นเพลง (ตอนนั้นแม่ให้ไปเรียนอิเล็คโทนด้วย เลยมีความรู้พื้นฐานด้านดนตรีอยู่บ้าง) ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ค้นพบตัวเองเลยว่าโตขึ้นอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ ตอน ม.ปลาย ครูแนะแนวให้ทำแบบทดสอบว่าเราควรเรียนต่อด้านไหน มีคำถามข้อนึงถามว่าใครคือบุคคลที่เป็นแบบอย่างของคุณ ผมเขียนลงไปว่า Bill Gates

5. สร้างสังคมของ Geek ให้ลูก

ข้อสุดท้ายนี้พ่อแม่อาจสร้างให้ลูกโดยตรงไม่ได้ เพราะลูกมักจะมีสังคมของเขาเอง แต่พ่อแม่อยู่ในสถานะที่ช่วยสนับสนุนได้ ตอน ม.ปลาย ผมเข้าชมรมคอมพิวเตอร์ มีเพื่อนที่เป็น Geek อีก 5 คน เราชอบอยู่ห้องคอมตอนดึกๆ ดื่นๆ หรือบางทีก็ค้างคืนตอนเสาร์อาทิตย์ นั่งเล่นเกมกันบ้าง (สมัยนั้นตี Doom II กันทั้งคืน) เขียนโปรแกรมบ้าง ทำเว็บบ้าง ytalk หรือ IRC กับสาวเอแบคบ้าง ก๊วน Geek กลุ่มนี้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งคอมพิวเตอร์อยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นโอลิมปิกคอมพิวเตอร์ วัฏจักร หรือแข่งตามงานวิชาการที่โรงเรียนอื่นจัดขึ้น สังคมแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจและยืนกรานจะให้ลูกกลับบ้านก่อนหกโมงเย็นทุกวัน

ทั้งหมดนี้คือ 5 วิธีส่วนตัวของผมที่ทำให้ผมโตขึ้นมาเป็นโปรแกรมเมอร์ ถ้าคุณเป็นโปรแกรมเมอร์ คุณมีอะไรที่คล้ายๆ กับผมอยู่หรือเปล่าครับ? ลองแชร์กันหน่อย…

ที่มา: http://macroart.net/2013/07/5-tips-to-grow-up-your-child-to-be-programmer/