Categories
Social media ไอเดีย

Nicholas Feltron – ศาสตร์แห่งข้อมูล ศิลป์แห่งการนำเสนอ

ภาพประกอบจาก terremotobcn

ก่อนที่จะโดนชักชวนมาร่วมทีมกับเฟสบุค Nicholas นั้นมีชื่อเสียงอย่างมากในการสรรค์สร้าง Infographics หรือการแปลความหมายของชุดข้อมูลดิบต่างๆที่เป็นเชิงสถิติ เป็นตัวเลขอันซับซ้อน ให้ออกมาเป็นรูปภาพ เป็นกราฟฟิคที่สวยงาม สามารถนำเสนอและอธิบายชุดข้อมูลที่เข้าใจยากๆเหล่านั้นได้ลงตัว

วิธีการเหล่านี้เรียกว่าการทำ Data Visualization ผลงานของ Nicholas ส่วนใหญ่จะได้รับว่าจ้างจากบริษัท องค์กรต่างๆ ให้จัดทำรายงานประจำปี (Annual Report) หรือบางครั้งก็เป็นการโชว์ผลการวิจัยของพวก Research firm ต่างๆโดยให้เขามาถ่ายทอดออกเป็น Infographics ทีสวยงาม

จุดลงตัวของศาสตร์และศิลป์

ทำรายงานให้ชาวบ้านมาก็เยอะ ผลงานหลายอันได้รับการแชร์ต่อกันทั้งโลกก็แยะ อยู่มาวันหนึ่งเขาเกิดสงสัยว่า แล้วชีวิตตัวเองล่ะ จะสามารถถ่ายทอดออกมาเป็น Infographics ได้หรือไม่ ?

ว่าแล้วในปี 2005 เขาก็เริ่มเก็บข้อมูลของตัวเองในทุกๆวัน คล้ายๆกับการบันทึกในไดอารี่ โดยทุกกิจกรรมของชีวิต เริ่มตั้งแต่ เดินทางไปไหนบ้าง ฟังเพลงโหลดเพลงอะไรมาบ้าง ถ่ายรูปมากี่รูป ที่ไหนบ้าง ดูหนังอ่านหนังสืออะไรบ้าง กินอะไรบ้าง เข้าเว็บไรบ้าง กินเหล้าที่ไหนบ้าง (สุดยอด ขอคารวะ)

จากนั้นก็นำมาถ่ายทอดออกเป็น Infographics ที่สวยงามที่ผมเชื่อว่าหลายๆคนคงเคยผ่านตามาบ้างแล้ว จากนั้นมาในทุกๆปี Nicholas ก็จะออกรายงานประจำปีส่วนตัวมาโดยเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เก็บ ให้ยิ่งประหลาดขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทำลายต้นไม้ไปกี่ต้น โศกเศร้าอารมณ์ดี แฮปปี้เมื่อไรบ้าง ส่งโปสการ์ดไปกี่ใบ ซึ่งรายงานประจำปีทั้งหมดสามารถดูได้ที่นี่ครับ

ภายหลังจากนั้น Nicholas ก็ได้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ DayTum.com ขึ้นมา เพื่อให้คนทั่วไปได้เก็บข้อมูลชีวิตประจำวันของตัวเองแบบตัวเขาบ้างแล้วนำเสนอในรูปแบบ Infographic ได้

ความสำเร็จ

สิ่งที่ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของ Nicholas คงไม่ใช่แค่การที่เขาได้เข้าทำงานกับ Mark Zuckerberg หรือรายได้จากเว็บ DayTum แค่นั้น แต่เขายังกลายเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอีกมาก ในการผสมผสานศาสตร์และศิลป์ที่แทบจะอยู่คนละขั้วกันเลย ทั้งการใช้ความสร้างสรรค์ ความอดทน ความละเอียดรอบคอบ และนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจที่สามารถส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตผู้คนได้อีก

เช่น สมมติว่าคุณทำการบันทึกข้อมูลการกิน การวิ่งออกกำลังกาย ก็อาจสามารถใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์สุขภาพ หรือแม้กระทั่งสามารถใช้เป็นเป้าหมายในการสำรวจ ปรับปรุง และพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆได้

ที่มา: http://eggidea.com/2012/05/13/nicholas-feltron/