Categories
ฟรีแลนซ์

การคิดค่าทำเว็บ ควรคิดอย่างไรดี?

ที่มา: http://www.imenn.com/2010/10/brainstorming-web-design-estimate/

แม้ว่างานยังล้นมือ เคลียร์ไม่ค่อยทัน แต่พอไปดูเว็บ Web Development Project Estimator แล้วก็ชอบมาก ทวิตไปก็มีเพื่อนๆ มาแนะนำว่า “น่าจะเอามาช่วยกันทำเป็นภาษาไทย ใส่ข้อมูลตามประสบการณ์” ก็เลยคิดว่า ขอแว้บมาจุดประเด็น เผื่อคนทำเว็บคนไหนจะเข้ามาแชร์ไอเดียกันนะครับ

ต้นแบบนั้น ใส่กระบวนการทำเว็บดังนี้

  • Project Brief : การบริฟงาน เริ่มโปรเจ็ค
  • Information Architecture : งานสถาปัตยกรรมด้านสารสนเทศ คร่าวๆ คือการออกแบบโครงสร้างข้อมูล
  • Design Research : การค้นข้อมูล/ตัวอย่างต่างๆ ด้านการออกแบบ
  • Initial Drafts & Sketches : การออกแบบฉบับร่าง
  • Design Revisions : การแก้ไขงาน
  • Final PSD Production : การจบงานดีไซน์ แล้วเก็บงานเป็นไฟล์ Photoshop
  • XHTML/CSS Development : การตัด XHTML และ CSS
  • Server-Side Development : การพัฒนาระบบ / ติดตั้งระบบบน Server
  • Testing & Debugging : การทดสอบและดีบักแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ
  • Copywriting : งานเขียนเนื้อหา คำบรรยาย และคำโฆษณาต่างๆ
  • Photography : การถ่ายภาพ
  • Photo Art Direction : การกำกับศิลป์ด้านการถ่ายภาพ
  • Client Meetings : การประชุมงานกับลูกค้า
  • Miscellaneous : เบ็ดเตล็ด

ซึ่งมาตรฐานของวงการนี้นั้น คิดการทำงานเป็นค่าแรงรายชั่วโมง ทำให้ฝรั่งทั้งหลายใส่แบบฟอร์มมาว่า แต่ละประเด็น คนทำงานนั้นใช้เวลาเท่าไหร่ และค่าแรงรายชั่วโมงเท่าไหร่? เว็บนี้ก็จะคำนวณให้เสร็จสรรพ

ตัวอย่างค่าแรงรายชั่วโมงของนักออกแบบจากหนังสือ Digging into WordPress (เค้าจะบอกว่า ถ้าคุณมาดูผมทำงาน หรือมาช่วยผมทำงานด้วย มันจะแพงน้าาา)

ขอเสนอตัวอย่างค่าแรงของผม

วิธีคิดว่า เราควรจะมีค่าแรงรายชั่วโมงเท่าไหร่ เริ่มคิดง่ายๆ ว่าเราอยากได้รายได้เดือนละเท่าไหร่? ที่คิดว่าสมเหตุสมผล และดูว่าเวลาทำงานจริงๆ ของเราคือเท่าไหร่? แล้วก็เอามาหารกันได้

ตัวอย่างเวลาทำงานของผมใน 1 เดือน

1 เดือนมีวันทำงานประมาณ 20 วัน (หักวันเสาร์อาทิตย์ และวันลาตามกฎหมาย ห้ามลาคลอดเพิ่ม) หากทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เท่ากับมีเวลาทำงาน 160 ชั่วโมง

ส่วนตัวผมเอง จะหักเวลาดังนี้

  1. ไว้สำหรับ Research and Development (เช่น อ่านหนังสือ, อ่าน Feed ที่เกี่ยวกับงาน) ตามหลักสากล ประมาณ 20% คือ 32 ชั่วโมง
  2. ไว้สำหรับ Sales, Marketing and Accounting (เพราะเป็น Freelance คือต้องขายเอง, โฆษณาตัวเอง และทำเอกสารต่างๆ ด้านการเงินเอง) 30% คือ 48 ชั่วโมง
  3. ทำงานเพื่อสังคม เช่น สอนหนังสือ, มีส่วนร่วมใน Open Source ฯลฯ ซึ่งต้องยอมรับว่า มันเป็นการช่วยโฆษณาตัวเองส่วนหนึ่ง และบางครั้งก็ได้ค่าเดินทาง/ค่าวิทยากรส่วนหนึ่ง ดังนั้น แม้จะใช้เวลาซัก 20% ก็สามารถคิดว่าใช้เวลา 10% ได้ คือ 16 ชั่วโมง

ดังนั้น เวลาทำงานที่เหลืออยู่ คือ 160 – 32 -48 -16 =  64 ชั่วโมง

แต่เผอิญว่าผมทำงานมาค่อนข้างมาก ทำให้ผมมั่นใจว่า เวลา 64 ชั่วโมงที่เหลือนี้ ผมสามารถหางานมาครอบคลุมได้หมด ผมก็ใช้ตัวเลขนี้ไปคำนวณค่าแรงต่อได้เลย

ตัวอย่างค่าแรงรายชั่วโมงของผม

ผมคิดว่า ผมพอใจที่เงินเดือนประมาณ 50,000 บาท (ก่อนหน้านี้อยู่ในกรุงเทพฯ เคยมีรายได้สูงสุด 1 แสน ผมคิดว่าการมาอยู่ปาย ลดรายได้ลงครึ่งหนึ่ง น่าจะเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่สมเหตุสมผล) ทำให้เมื่อหารจำนวนชั่วโมงออกมาแล้ว (50,000/64) ผมควรจะคิดค่าแรงรายชั่วโมงประมาณ 800 บาท ตามบันทึก ค่าแรงรายชั่วโมง

แต่แน่นอนว่า หากผมหางานได้แค่ครึ่งหนึ่งของที่ประมาณไว้ ผมก็ย่อมมีรายได้ครึ่งเดียว ดังนั้นการประมาณว่าเราสามารถหาปริมาณงานได้เท่าไหร่ จึงสำคัญมาก

สมเหตุสมผลหรือเปล่า?

  1. ผมลองเทียบกับต้นทุนของบริษัท (ลองอ่านบันทึกสมัยทำบริษัทใหม่ๆ – จากกระทู้เรื่องเงินเดือน) พบว่าหากบริษัทจ้างพนักงานเงินเดือน 50,000 บาท บริษัทจะมีต้นทุนประมาณ 2 เท่า คือ 100,000 บาท แต่พนักงานบริษัทนั้นมักไม่ได้ทำงานจริงๆ 8 ชั่วโมง เพราะมักจะอู้ได้ หากคิดว่า ทำงานซัก 80% ก็จะได้เวลาทำงาน 128 ชั่วโมง เมื่อเอาไปหารต้นทุน 100,000 บาท เท่ากับบริษัทมีต้นทุนเกือบ 800 บาท/ชั่วโมง ด้านบน ผมเลยสรุปว่าตัวเลขนี้สมเหตุสมผล
  2. ผมลองเปรียบเทียบกับค่าแรงรายชั่วโมงของการทำงานรายชั่วโมงแบบอื่นๆ ของไทย (ซึ่งตอนนี้ นึกออกแค่ หมอนวด หากใครนึกออกอีกช่วยกรุณาวานบอก) พบว่าค่าแรงของผมอยู่ระหว่างหมอนวดแผนโบราณป้าๆ แก่ๆ กับ หมอนวดแผนปัจจุบันเกรดล่างๆ ดังนั้น ผมจึงคิดว่า ค่าแรงของผมน่าจะสมเหตุสมผล เพราะต่ำกว่าเด็กไซด์ไลน์อยู่มาก ดังนั้นผมก็ไม่ใช่คนรายได้สูงอะไรนัก
  3. หากดีไซน์เนอร์คาดหวังว่าจะมีรายได้ประมาณ 25,000 แล้วใช้เวลาตามผมเป๊ะ เค้าก็หางานให้ได้ครึ่งหนึ่งของผม โดยคิดราคารายชั่วโมงเดียวกับผม หรือไม่งั้นเค้าก็คิดราคาต่ำกว่าผมครึ่งหนึ่ง แล้วทำงานให้เท่ากับผม – ดูแล้วก็น่าจะสมเหตุสมผล และน่าจะมีคนทำได้มากกว่าผมอยู่อีกมาก
  4. สุดท้ายหากลูกค้ารู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผล ผมก็นึกข้ออ้างไม่ออกแล้ว ดังนั้นคงต้องปล่อยงานและลูกค้ารายนั้นไป :)

ตัวอย่างเวลาที่ใช้ในแต่ละงานของผม

ยกตัวอย่างเว็บ Content ที่ไม่ได้ทำระบบซับซ้อน ทุกอย่างจบใน WordPress แต่อาจจะดีไซน์หลายครั้งหน่อย (เฉลี่ยแก้ประมาณ 7-8 ครั้ง) เช่น

  • Mobilitz.com ทำให้พี่กระทิงใน Silicon Valley
  • DKcurtain.com เว็บขายผ้าม่าน
  • Balloonie.com เว็บขายลูกโป่ง (อันนี้จะมีเพิ่มเวลาในส่วน Shopp อีก / ยังทำไม่เสร็จ)
  • hlpth.com เว็บองค์กร (แต่หน้าน้อยกว่าปกติ ไปเพิ่มส่วนที่ทำประกอบกับ Drupal แทน)
  • Slowstylepai.com เว็บชมรมการท่องเที่ยวปาย (อันนี้จริงๆ ประชุมเยอะมาก / เป็นงานอาสา / ยังไม่เสร็จ)
  • paisina.com เว็บแนะนำของในปาย (อันนี้ทำให้ภรรยา บังคับห้ามแก้ เลยอาจจะแก้ 1-2 ครั้ง / ยังไม่เสร็จ)

น่าจะใช้เวลาในส่วนต่างๆ ดังนี้

งาน อธิบาย ชั่วโมง ราคา
Project Brief ไม่ค่อยซับซ้อน 1 800
Information Architecture ไม่ค่อยซับซ้อน เลยทำแค่ sitemap 0.5 400
Design Research ส่วนใหญ่ต้องหาและแก้กันไปมาบ้าง แต่ลูกค้ามักจะช่วยหา 2 1600
Initial Drafts & Sketches ปกติผมใช้คำว่า version 1 (v1) 3 2400
Design Revisions ปกติจะแก้กันประมาณ 7-8 ครั้ง ครั้งละ 1-2 ชั่วโมง 10 8000
Final PSD Production ไม่ต้องส่งต่อให้ใคร เลยไม่ต้องเก็บงานมากนัก 1 800
XHTML/CSS Development ปกติจะตัดรูป ประมาณ 1 ชั่วโมง, สร้าง html แรก ประมาณ 3 ชั่วโมง สร้าง CSS ประมาณ 4 ชั่วโมง และตัดที่เหลือ (หากไม่มากนัก) ประมาณ 2 ชั่วโมง 10 8000
Server-Side Development ปกติทำธีม WordPress 7 ชั่วโมง, ติดตั้งและปรับแต่ง 1 ชั่วโมง 8 6400
Testing & Debugging งานฟรีแลนซ์ลูกค้ามักเป็นคนตรวจสอบเอง เราแค่แก้ไข 1 800
Content & Copywriting งานฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่มักไม่คิดคำให้ ให้ลูกค้าส่งให้เรา แต่ยังไงก็ต้องลงข้อมูลเริ่มต้นให้ 1 800
Photography ผมถ่ายรูปไม่เป็น 0 0
Photo Art Direction ผมไม่รับคุมกองถ่าย 0 0
Client Meetings ปกติทำงานที่ปาย สรุปงานผ่านเมล ผมเลยไม่นับเวลาประชุม (ถ้าอยู่กรุงเทพฯ แล้วนับน่าจะแพงกว่านี้อีกมาก เพราะมีทั้งเวลาประชุม, เวลาเดินทาง, ค่าเดินทาง และอาจมีค่าหัวเสียกับเรื่องไร้สาระที่ทำให้ทำงานไม่ได้หลายชั่วโมง) 0 0
Miscellaneous ทำงานที่ปาย ไม่มีเอกสาร ไม่มีเทรนนิ่ง ไม่มีแมสเซนเจอร์ ไม่มีค่ารถค่าน้ำมัน ไม่มีเจ๊าะแจ๊ะ ไม่มีน้ำร้อนน้ำชา 0 0
รวม 30,000

ที่มา: http://www.imenn.com/2010/10/brainstorming-web-design-estimate/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.