Categories
ธุรกิจ

เมื่อพนักงานเริ่มหมดความมุ่งมั่นในการทำงาน

สัปดาห์นี้พักจากเรื่องบ้านเมือง กลับมาเรื่องของการบริหารองค์กรกันต่อนะครับ ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ผมพบ โดยเฉพาะกับคนทำงานรุ่นใหม่ ๆ คือ เรื่องของความมุ่งมั่น ภักดี และกระตือรือร้นต่อการทำงานครับ เชื่อว่าผู้บริหารองค์กรทุกแห่งอยากจะเห็นพนักงานของตนมีความกระตือรือร้น มุ่งมั่น รับผิดชอบ ในการทำงานอย่างเต็มที่ แต่ได้พบเจอผู้บริหารหลาย ๆ ท่าน ก็มักจะบ่นให้ฟังถึงแต่เรื่องนี้กันเป็นแถว หลายองค์กรพยายามหาเครื่องมือหรือแนวทางใหม่ ๆ ในการทำให้พนักงานเกิดความมุ่งมั่นและกระตือรือร้นในการทำงาน ปัจจุบันคำคำหนึ่งที่คนในแวดวงธุรกิจได้ยินกันบ่อยมากขึ้น คือ Employee Engagement ครับ หลาย ๆ องค์กรเริ่มมีการวัด Employee Engagement กันพอสมควร ถึงแม้ว่า Engagement จะเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าไปดูที่ตัวความหมายเบื้องหลัง เราจะพบว่าแนวคิดนี้มีมานานพอสมควรแล้ว นั่นคือ ทำอย่างไรให้พนักงานเกิดความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และความรับผิดชอบในการทำงาน

ผมเองก็ประสบกับตัวเองมาหลาย ๆ ครั้ง เมื่อเจอพนักงานองค์กรต่าง ๆ พวกเขาเหล่านั้นก็ต่างบอกว่าตนเองก็รับผิดชอบต่องานที่ทำ แต่เมื่อพูดคุยกับผู้บริหารแล้ว สิ่งที่พบคือคำว่ารับผิดชอบนั้น ก็คือถ้านายสั่งงานไปก็ทำ แล้วก็ทำเท่าที่นายสั่งงานมา แต่พนักงานเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะขาดความกระตือรือร้น ขาดความมุ่งมั่น ขาดความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ในการทำงาน แนวคิดหรือความริเริ่มใหม่ ๆ ในการทำงานมักจะมาจากตัวผู้บริหารระดับสูงหรือคนหน้าเดิม ๆ เพียงไม่กี่กลุ่ม ในขณะที่พนักงานส่วนใหญ่ทำงานในลักษณะให้เป็นไปตามหน้าที่ ความรับผิดชอบเท่านั้น แต่ขาดความมุ่งมั่นและทุ่มเทที่จะพัฒนาองค์กรที่อยู่ให้เจริญก้าวหน้ากว่าที่เป็นในปัจจุบัน

จริง ๆ ปัญหานี้ผมเองก็นำเสนอผ่านทางบทความนี้ไปหลายครั้งแล้วเหมือนกันครับ และเราก็มักจะพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นบางครั้งไม่ได้เกิดจากตัวพนักงานเป็นต้นเหตุ แต่เกิดขึ้นจากตัวผู้บริหาร บรรยากาศและสภาวะแวดล้อมในการทำงานเป็นหลัก มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าพนักงานส่วนใหญ่ยิ่งอย่กับองค์กรนานขึ้น ระดับของูEngagement จะยิ่งลดลง ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับ จะพบว่าเมื่อเป็นพนักงานเข้าใหม่นั้น ดูเหมือนว่าน้อง ๆ เหล่านั้นจะมีความกระตือรือร้น ความมุ่งมั่น ความตั้งใจในการทำงานสูง พนักงานใหม่มักจะร้อนวิชา พยายามนำเสนอแนวทางหรือวิธีการใหม่ ๆ ในการทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่ออยู่นานเข้าหรือได้ซึมซับวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรไปนาน ๆ เข้า ความกระตือรือร้น ความมุ่งมั่น ความตั้งใจเหล่านั้น ก็ดูเหมือนจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าระหว่างการทำงานพนักงานเหล่านั้น มีความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการสนับสนุน การยอมรับ การชมเชย ในสิ่งที่ตนเองทำไป ความมุ่งมั่น กระตือรือร้นเหล่านั้น ก็จะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ ครับ

Gallup ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่ในด้าน Engagement (มีบริษัทหลายแห่งในเมืองไทยที่ใช้บริการเขาอยู่ด้วยครับ) ได้ประมาณออกมาว่าในอเมริกา การที่พนักงานขาดความมุ่งมั่น กระตือรือร้น ตั้งใจในการทำงานนั้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจของอเมริกาถึงปีละ $300 พันล้านดอลลาร์ต่อปี รวมทั้งมีพนักงานกว่าร้อยละ 17 ของคนทำงานในสหรัฐทั้งหมด ที่มีลักษณะ Disengaged ครับ โดยพวกพนักงานที่ Disengaged เหล่านี้ สร้างความสูญเสียในด้านผลิตภาพให้กับนายจ้างของพวกเขา คนละ $13,000 ต่อปี

ในเมืองไทยเองยังไม่มีการศึกษาหรือตัวเลขพวกนี้ออกมานะครับ แต่ก็เชื่อว่าความสูญเสียจากบุคลากรในองค์กรที่มีลักษณะ Disengaged ก็คงมีไม่น้อยเหมือนกันครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคราชการแล้ว มีข้อสงสัยเหมือนกันว่า ระดับของ Engagement ของข้าราชการนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับภาคเอกชนแล้วเป็นอย่างไร

มีตัวเลขผลการวิจัยในระบบราชการของประเทศอังกฤษ พบว่าร้อยละ 12 นั้นเป็นพวกที่ Highly Engaged ส่วนอีกร้อยละ 22 เป็นพวก Disengaged ครับ ในขณะที่พวกที่ Engaged นั้น ก็เชื่อว่าตนเองสามารถทำให้องค์กรดีขึ้นได้ นอกจากนี้ พวกที่มุ่งมั่นและตั้งใจนั้น จะมีวันลาป่วยโดยเฉลี่ย 2.69 วันต่อปี ส่วนพวกไม่มุ่งมั่นนั้นจะลาป่วย 6.19 วันต่อปีครับ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษานะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบราชการของไทย

ประเด็นสุดท้าย คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าพนักงานเริ่มที่จะไม่สนใจ ไม่มุ่งมั่น ไม่ตั้งใจ ไม่รับผิดชอบต่องานของตนเอง หรือ ที่เรียกว่า Disengaged ท่านผู้อ่านลองสังเกตพฤติกรรมเหล่านี้ดูนะครับ ว่า ลูกน้องของท่านไม่ค่อยยอมที่จะก้าวขึ้นมารับผิดชอบต่องานต่าง ๆ เมื่อมีปัญหาหรือโอกาสเกิดขึ้น ก็มักจะหาทางหลบเลี่ยง ไม่ค่อยแบ่งปันข้อมูลกับผู้อื่น หรือเริ่มชอบที่จะแยกมาอยู่โดดเดี่ยวมากขึ้น ถ้าพบอาการเหล่านี้ ท่านผู้บริหารทั้งหลาย คงจะต้องรีบหาทางรักษาและเยียวยาโดยด่วนนะครับ ที่สำคัญ อย่าลืมว่าทุกคนต้องการให้คนอื่นเห็นถึงคุณค่าหรือความสำคัญของตนเองทั้งสิ้นครับ

ที่มา – http://www.pattanakit.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=538707044&Ntype=121

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.