Categories
ภาวะผู้นำ

คุณลักษณะในการสร้าง “ผู้นำ” 10 ประการ (2) E = Eagle Eye ผู้มีวิสัยทัศน์ จะไม่เดินหลงทาง

E = Eagle Eye (ผู้มีวิสัยทัศน์ จะไม่เดินหลงทาง)

ผู้ที่จะสามารถนำทีมงานได้ จะต้องมีความสามารถในการสร้างทิศทางที่ชัดเจนให้องค์กร เพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ในระยะสั้นและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เรียกว่า “ผู้นำเชิงวิสัยทัศน์” (Visionary leadership)

การสร้างวิสัยทัศน์ ก็คือ การมองไปในอนาคตว่า อีก 5 – 10 ปี ธุรกิจและงานที่ทำอยู่นั้นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มีอะไรใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นบ้าง ดังนั้นธุรกิจ และองค์กรของตน “จะเป็น” อย่างไร และที่เหมาะสม “ควรจะเป็น” อย่างไร (Where you want to be)

ผู้นำ คือ  นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีขึ้น

การนำธุรกิจและองค์กรไปในทิศทางไหน สำคัญกว่า การทำงานให้ถูกด้วยซ้ำ เพราะถ้าธุรกิจเดินไปในทิศทางที่ไม่เหมาะสม แม้จะเดินไปได้ดี และไม่ผิดพลาดก็ตาม แต่เมื่อถึงจุดหมายปลายทางที่ไม่ใช่จุดที่เหมาะสมแล้ว ก็จะทำให้เสียเวลาและทรัพยากรไปเปล่าๆ เพราะไม่สามารถทำให้องค์กรสามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ปัจจัยที่จะใช้ในการสร้างวิสัยทัศน์ นอกจากต้องใช้ความพยายามในการรวบรวม, ประมวลผล และวิเคราะห์ “ข้อมูล” มีความกล้าคิดนอกกรอบแล้ว ยังต้องมีทักษะในการมองความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆที่มากกว่าหนึ่งมิติ เพราะถ้ามองปัจจัยทีละอย่างแล้วตัดสินใจ จะอุปมาเหมือน “ม้าลำปาง” ที่ใส่ครอบตาให้ม้ามองเห็นเฉพาะทางตรงเท่านั้น ไม่สามารถเห็นสภาพแวดล้อมทั้งหมด จะไม่เข้าใจปัญหาได้ลึกซึ้งพอที่จะสร้างวิสัยทัศน์ที่เหมาะสมได้

ลักษณะ “การมอง” ดังกล่าวเปรียบประดุจการมองของ “พญานกอินทรี” ณ ความสูงเหนือพื้นโลกที่ 1,000 ฟุต ก็จะสามารถมองเห็นภาพรวมของพื้นโลกทั้งหมดจากเบื้องสูง(Bird’s Eye View) ซึ่งจะเห็น แม่น้ำ, ต้นไม้, สัตว์ต่างๆ มากมาย และจะตัดสินใจได้ว่าจะบินต่อไปทิศทางไหน เพื่อไปจับสัตว์อะไร, ตัวไหน ด้วยวิธีการอะไร จึงมีโอกาสได้อาหารมา เพื่อการอยู่รอดในวันนี้ และสามารถแข่งขันได้ในวันพรุ่งนี้ รวมถึงการสร้างโอกาสใหม่สำหรับอนาคต เหมือนกับการต่อ “จิ๊กซอ” ต้องเห็น “ตัวต่อทีละชิ้น” แต่ที่สำคัญก็คือ ต้องเข้าใจว่าตัวต่อตัวที่เห็นอยู่นั้น มีบทบาทและจะเชื่อมต่ออย่างไรกับ “ตัวต่อทั้งหมด” ที่จะสามารถทำให้เกิดภาพที่ต้องการได้ (Holistic)

เช่นเดียวกับการมองเห็นแนวทางในการดำเนิน “ชีวิต” ของตนเอง สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ การมีเป้าหมายชีวิตที่ “ชัดเจน” ว่า ตนเองควรจะเป็นอะไรในอนาคต ที่จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคมรอบข้าง ซึ่งถ้าหากเป้าหมายในชีวิต เพียงเพื่อความสุขของตนเองเท่านั้น ชีวิตก็อาจจะไร้ค่า

ตัวอย่าง ถามว่า “ท่านกำลังทำอะไรอยู่

“ทำงานอยู่ ไม่เห็นหรือ” ดังนั้นจึง เช้าชาม เย็นชาม

“วางแผนการขาย”            ดังนั้นจึง มุ่งแต่วิธีการ

“สร้างยอดขาย”                ดังนั้นจึง มุ่งแต่ผลงานตัวเอง

“สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของบริษัท ให้เป็นตำนานว่า เราได้สร้างบริษัทให้เป็นที่รู้จักและชื่นชอบที่สุดของ ผู้บริโภค จนทำสถิติยอดขายสูงที่สุด” เพราะ เมื่อบริษัทเติบโต ท่านก็สามารถเติบโตไปกับบริษัทด้วย

จากนั้นจึงทำการสื่อความคิดดังกล่าวแก่ทีม การสร้างเป็นวิสัยทัศน์ร่วม(Shared Vision) โดยการสื่อความหมายให้ทีม รู้และเข้าใจวิสัยทัศน์ สร้างให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร คือ ทุกคนรู้ว่า องค์กรจะอยู่รอดและเติบโตได้ ต้องเดินทางไปในทิศทางใด, วิธีการอะไร และโน้มน้าวใจให้ทุกคนช่วยกันพัฒนางานที่รับผิดชอบ ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร

*** องค์กรส่วนมาก “มีวิสัยทัศน์” แล้ว

ลองถาม “ผู้จัดการ” ของท่านว่า “วิสัยทัศน์” ของบริษัทฯ ที่เขียนไว้ว่า มีอะไรบ้าง?

ท่านอาจจะแปลกใจเล็กน้อยที่จะพบว่า “ผู้จัดการ” ส่วนมาก

“รู้” ว่าบริษัทฯมีวิสัยทัศน์ แต่…..

“จำ” ไม่ได้,

“จำได้” แต่ไม่ถูกต้อง

“ถูกต้อง” แต่ไม่ครบถ้วน

จึงไม่ต้องสงสัยว่า เขาจะ “เข้าใจ” และ นำไปพัฒนางานที่รับผิดชอบได้หรือไม่

และไม่ต้องถามว่า พนักงานทั่วไป จะ รู้, เข้าใจ และ นำวิสัยทัศน์ไปพัฒนางานที่รับผิดชอบได้หรือไม่

วิธีการแก้ไข

1. เมื่อมีการประชุมทุกครั้ง, ทุกระดับ ให้”ท่อง” วิสัยทัศน์ ร่วมกัน

2. จัดการประกวด แผน “การนำวิสัยทัศน์ไปปฏิบัติ” ประจำปี

3. จัดการประกวด ผล “การนำวิสัยทัศน์ไปปฏิบัติ” ประจำปี

ที่มา – http://www.oknation.net/blog/monchai83/2009/11/08/entry-1

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.