Categories
ธุรกิจ

กระตุกต่อมสร้างสรรค์

“All great innovations are built on rejection.” Louise Nevelson

ธุรกิจหลายๆแบบเช่น งานโฆษณา, พีอาร์, ประชาสัมพันธ์, สถาปนิก, กราฟฟิกดีไซน์ เพื่อจะให้ได้งาน วิธีการทำงานส่วนใหญ่ต้อง “รีด” เอาความคิดสร้างสรรค์ออกมาเพื่อนำเสนอหรือเพื่อ “pitch” ลูกค้าก่อน ยิ่ง ยุคนี้สมัยนี้ ลูกค้าเป็นใหญ่ซะด้วย การ “pitch” ลูกค้าสำคัญๆในแต่ละครั้งจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่มีเล็ก เสนองานแต่ละทีต้องเอาเอ็มดีมานั่งพรีเซนต์เอง แต่ละบริษัทลงทุนกันเยอะ ปั่นไอเดียไปกัน แล้วออกมาขายฝันให้ลูกค้าเร้าใจในความคิดอันบรรเจิดของเรา

ถ้าไม่ได้งานก็แล้วไป แต่คำถามคือถ้าลูกค้าเกิดพอใจ พอได้งานมาแล้ว แล้วยังไงต่อ? ถ้าเรานักคิดทุกคนทุกบริษัทมีน้ำมันหล่อลื่นมาชโลมสมองตั้งแต่เริ่มเสนองานจนสามารถสนองเงิน(จากลูกค้า)ได้จนจบก็น่าดีใจ  แต่ทว่าในความเป็นจริงมนุษย์ไม่ใช่เครื่องยนต์และ ความสร้างสรรค์ที่ยัง “คิดไม่จบ”แบบนี้ มันก็หมดกันได้ ถ้าเราขาดแรงจูงใจในการสร้างงาน

………………..

แรงจูงใจ สามารถทำให้เราทำงานได้ดี ได้เร็ว ได้มีคุณภาพ ทำให้ได้เห็นคุณค่าของงานครับ การสร้างสรรค์งานชิ้นหนึ่งเกี่ยวพันกับการรักษาระดับของความอยาก(ทำ) หรือเจ้าแรงจูงใจให้อยู่กับเราตลอดหรือ อย่างน้อยก็ขอรู้ว่ามีกำลังใจเอาไว้กอดอยู่ข้างๆ

คนส่วนใหญ่สร้างแรงจูงใจ หรือรักษากำลังใจอย่างต่อเนื่องเพื่องานสร้างสรรค์ได้จาก 5 สิ่งในการทำงานครับ การแข่งขัน (competition) ขั้นตอน (process) ตัวงาน (product) ผลที่ได้ (impact) และความภูมิใจที่ได้ควบคุม (oversight)
……………………

“การแข่งขันหรือ ฉันต้องเป็นที่หนึ่ง” สำหรับหลายๆคน เราต้องการมีพลังผลักดันความคิดแบบ งานฉันต้องดีเพราะฝีมือฉันน่ะแจ๋ว… งานฉันทำแล้วต้องได้รางวัลต้องดีเด่นเหนือใคร ถ้ากำลังใจของเรามาแนวนี้ไม่ต้องอายไม่ต้องเขินครับ แสดงพลังของคุณที่ซ่อนอยู่ออกมา เสนองานดีๆเข้าประกวด ออกไปแข่งขัน หรือทำงานทุกชิ้นให้ดีเหมือนจะส่งเข้าประกวดได้ตามเวทีต่างๆ

“ทำงานเป็นระบบ คิดให้จบแล้วถึงจะสวย” สถาปนิกระดับตำนานหลายคนที่ทำงานดีๆมีเคล็ดลับการออกแบบอาคารอลังการงานสร้างที่ “ความสวย” ของ “เส้น” กับ “ความตรง” ของ “ไลน์” นะครับ คนบางคนชอบที่จะทำงานบนพื้นฐานของขั้นตอน ของแผน เพื่อเพิ่มความมั่นใจที่คนอื่นหรือระบบได้พิสูจน์แล้วว่าถ้าเดินตามน่ะ มันจะดีเอง ก็ไม่ผิดครับ ถ้าวิธีการทำงานของ
เรามาแนวนี้ ขอให้เลือกงานที่ให้ “เวลา”กับคุณในการคิด งานที่กะเกณฑ์ได้มามีปริมาณมากน้อยในช่วงเวลาตรงไหนอย่างไร ขอให้เราระวังเรื่องการทำงานใกล้ deadline เพราะจะทำให้งานของคุณ  นอกจากจะไม่สร้างสรรค์ยังจะตายเอาง่ายๆ เพราะทุรนทุราย ด้วยความร้อนรน

“ตัวงานสำคัญกว่า ไม่ว่าที่มาจะเป็นอย่างไร” สำหรับคนโฆษณาหลายคนต้องการเห็น campaign ที่เราสร้างออกมาเกิดขึ้นจริงกลายเป็นสิ่งที่สัมผัสได้  Artist ทุกคนอยากจะเห็นรูปที่ตัวเองวาดเสร็จสมบูรณ์  อินทิเรียร์ทุกคนอยากจะเห็นงานที่ตัวเองออกแบบ สร้างเสร็จเร็วๆ เพื่อจะได้ดูว่ามันจะสวยขนาดไหน ถ้ากำลังใจของคุณมาแบบนี้ ขอให้ทำงานแบบเร็วรัดกระชับพื้นที่ไวไวครับ อย่าไปผูกติดกับขั้นตอนใดๆมาก ทำงานให้เร็ว ทดลองให้บ่อย ลองเส้นทางใหม่ๆ หลายๆทางเพื่อไปหาจุดหมายอันเดียวกันครับ

“รักงานของฉัน คือ รักฉัน” ผลที่ได้รับหรือการตอบรับที่ดีจากสาธารณชน, จากคนอื่นๆหลายๆครั้ง คือ สิ่งที่สำคัญของคนทำงานนะครับ งานจะสวยหรือไม่, อาจไม่เด่นที่สุดแต่คนชอบ, อาจไม่สวยที่สุดในสายตาเราแต่ลูกค้าโอ, ชิ้นงานแพงที่สุด ลูกค้าไม่เอาแต่นายชม สิ่งที่ดีที่สุดในโลกของเราคือคนอื่นอภิเชษฐ์งานของเรา ถ้าเราเป็นแบบนี้ควรทำงานกับลูกค้าแบบเน้นความต้องการของลูกค้าเยอะๆแล้วก็ตามใจเค้าให้มากครับ

“เดินไปด้วยกันเธอกับฉันเราหลายคน” นักออกแบบส่วนใหญ่ทำงานเป็นทีมครับ ความสำเร็จของงานหลายครั้งคือความสำเร็จของทีม ไม่ว่างานจะออกมาดีมาก ดีน้อย เป็นอย่างไรก็คือสิ่งที่ทุกคนในทีมร่วมเดินมาด้วยกัน ถ้าแรงจูงใจของเราเป็นแรงจูงใจที่มาจากการได้ทำงานร่วมกัน เราน่าจะเน้นทำงานสร้างสรรค์แบบที่เน้นระบบการทำงานเชิง project management ในงานก่อสร้างหรืองานออกแบบ และการทำงานสร้างสรรค์ที่ทำเพื่อสังคมครับ
…………………………..…

การสร้างสรรค์งานดีๆบางทีต้องมี “อุปกรณ์” ครับ แล้วอุปกรณ์ที่ดีที่สุดก็คือการหาวิธีการ “กระตุกต่อมความคิด” ของเราในรูปแบบต่างๆกัน

…….และเราก็สามารถทำได้ง่ายๆทุกวันโดยการสร้างกรอบเพื่อค้นหารูปแบบของโอกาสเหล่านี้ ที่เหมาะสม ในจังหวะเวลาที่ต่างๆกันครับ ……

ที่มา – http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/kuldej/20100930/355542/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%8C.html

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.