โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุด เปลี่ยนชีวิตของผมที่สุด และอยากแนะนำมากที่สุดอีกเล่มหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ผมรู้สึกว่าทุกอย่างในชีวิตมันมากเกินไป เข้ามาเร็วเกินไป เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป จนจัดการไม่ทัน เรียนรู้ไม่ทัน จำได้ไม่หมด ทำให้รู้สึกเครียดอยู่บ่อย ๆ
แม้ว่าหนังสือ Building a Second Brain เล่มนี้จะไม่หนามาก แต่ผมใช้เวลาอ่านนานมากถึง 2 เดือนเต็ม เพราะระหว่างที่อ่าน ผมค่อย ๆ ลองนำไอเดียที่ได้จากหนังสือมาทดลองใช้ อ่านแต่ละบทซ้ำ ๆ เพื่อปรับระบบที่สร้างขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนได้ระบบที่เริ่มเหมาะสมกับตัวเอง
ผมใช้ระบบนี้กับการทำงาน การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ งานอดิเรก และชีวิตส่วนตัว
ตอนนี้ผมรู้สึกว่าหลาย ๆ อย่างเริ่มอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ เครียดน้อยลง และสามารถไว้ใจในระบบที่ตัวเองสร้างขึ้นได้
ไอเดียที่หนังสือบอกเล่าไม่ใช่ระบบที่สำเร็จรูป ไม่ตายตัว ไม่ได้บอกว่าต้องใช้เครื่องมือตัวไหนเพราะจะไม่มีเครื่องมือที่ใช้ได้กับทุกคน มันปรับเปลี่ยนได้ แต่ละคนสามารถเลือกสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์มาใช้ และเราก็ทิ้งส่วนที่คิดว่าไม่ใช่ไปได้เช่นกัน ทุกคนจะสร้างระบบของตนเองที่ไม่เหมือนกัน
แม้วันนี้เรามีระบบเป็นของตัวเองแล้ว เราก็ต้องปรับเปลี่ยนระบบของเราอยู่เสมอตามแต่ละช่วงเวลาและความต้องการในชีวิต
หนังสือเล่มนี้นำเสนอหลากหลายแนวคิด อธิบายเข้าใจง่าย แนวคิดหลักจะถูกอธิบายซ้ำจนเราจำขึ้นใจและนำไปใช้ได้ ซึ่งแนวคิดที่เป็นแกนหลักที่สุดคือ CODE ซึ่งมาจาก
- Capture : เก็บข้อมูลที่เรารู้สึกว่ามันสำคัญกับเราจริง ๆ จากหลายแหล่ง ให้มารวมกันในที่เดียว
- Organize : จัดการกับข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นตามการใช้งาน โดยใช้หลักการของ PARA : Project, Area, Resource และ Archives
- Distill : สกัดสาระลำคัญด้วย Progressive Summarization
- Express : แชร์ความรู้ของเรา โดยที่เราจะมี Note และระบบที่เราสร้างขึ้นมาช่วยสนับสนุน
ในตอนนี้ผมเองมีระบบในการ Capture และ Organize ที่ช่วยผมได้มากและผมพอใจในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังต้องทบทวนและฝึกฝน Distill และ Express ต่อไป
นอกจาก CODE ที่เป็นแนวคิดหลักของหนังสือแล้ว PARA ซึ่งเป็นแนวคิดในการ Organize ข้อมูลต่าง ๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน และอาจเป็นเรื่องที่ผู้อ่านส่วนใหญ่สนใจที่สุดด้วย ซึ่ง PARA ประกอบด้วย
- Project : เก็บสิ่งที่เรากำลังทำ กำลังสนใจที่สุดอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่มีขอบเขตเวลาจำกัด และในเวลาหนึ่ง ๆ จะมีเพียงไม่กี่อย่าง
ซึ่งเท่าที่ผมอ่านความเห็นของผู้อ่านท่านอื่น ๆ ที่ได้อ่านหนังสือ Building a Second Brain เล่มนี้ มีหลายคนที่ไม่ชอบแนวคิด PARA เพราะคิดว่าตนเองไม่มี Project ที่กำลังทำอยู่ แต่ถ้าทำความเข้าใจดี ๆ จะพบว่า Project สามารถเป็นได้มากกว่าโครงการที่เกี่ยวกับงานหรือการเรียน เช่น- รายการซื้อของประจำสัปดาห์
- วางแผนจัดงานวันเกิดให้ลูก
- วางแผนสำหรับการหางานใหม่
- วางแผนการท่องเที่ยวญี่ปุ่น
- Area : มีความคล้ายกับ Project แต่มีขอบเขตเวลายาวกว่า หรืออาจจะยังไม่มีขอบเขตเวลาที่สิ้นสุด ณ ตอนนี้ เช่น
- วางแผนการออกกำลังกายและติดตามผล
- วางแผนการเงินของครอบครัว
- วางแผนสำหรับการเกษียณ
- Resource : คือข้อมูลอ้างอิงที่เราสามารถนำมาใช้ใน Project อื่น ๆ ในอนาคต
- Archives : คือ Project หรือ Area ที่ไม่ต้องทำหรือไม่สนใจในตอนนี้แล้ว แต่เราไม่อยากลบทิ้งไปเพราะอาจนำกลับมาทำใหม่อีกครั้ง หรืออาจนำข้อมูลมาใช้กับโปรเจคใหม่ ๆ ในอนาคต เช่น
- โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง ทำให้เราต้องพักแผนการไปเที่ยวญี่ปุ่นไว้ก่อน เราก็สามารถย้ายโปรเจค “วางแผนการท่องเที่ยวญี่ปุ่น” มาที่ Archives ได้ และหากสามารถไปท่องเที่ยวได้อีกครั้ง เราก็สามารถย้ายโปรเจค “วางแผนการท่องเที่ยวญี่ปุ่น” กลับไปที่ Project ได้เช่นกัน
- บริษัทได้ลูกค้ารายใหญ่ซึ่งมาพร้อมกับโปรเจคใหม่ ทำให้ทั้งทีมต้องพักโปรเจคที่กำลังทำอยู่แล้วมาช่วยกันทำโปรเจคใหม่ เราก็สามารถย้ายโปรเจคที่ถูกพักไว้มาที่ Archives ได้เช่นกัน
ใครที่อยากสร้างระบบที่ช่วยจัดการชีวิตและข้อมูลในโลกดิจิตอลของตนเอง ในขณะที่ทุกอย่างถาโถมเข้ามาจากทุกทิศทุกทาง ผมแนะนำหนังสือ Building a Second Brain เล่มนี้ครับ