Categories
หนังสือ

หนังสือ The Power of Input – วิธีอ่านหนังสือ

การอ่านนอกจากจะเพื่อความบันเทิง เสริมความรู้ หรือพัฒนาตนเองแล้ว การอ่านยังช่วยแก้ปัญหาให้เราได้ด้วย ครั้งต่อไปที่เลือกซื้อหนังสือ ลองเลือกหนังสือที่น่าจะช่วยแก้ปัญหา ที่เรากำลังพบเจออยู่ดูครับ

การอ่านคือก้าวแรกของการเรียนรู้

การเรียนรู้มีขั้นตอนของมัน การทำตามขั้นตอนตามลำดับจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนรู้ การข้ามลำดับก็ส่งผลให้ประสิทธิภาพลดลง

ลำดับขั้นตอนในการเรียนรู้

  1. อ่านหนังสือ
    จะเรียนรู้อะไรให้เริ่มที่การอ่าน และเริ่มจากพื้นฐานของเรื่องนั้น ๆ ก่อน
  2. ดูวิดีโอหรือฟังคลิปเสียง
  3. เข้าเรียน ฟังบรรยาย หรือฟังสัมมนา
  4. เรียนแบบตัวต่อตัว
  5. สอนผู้อื่น

อ่านเร็ว V.S. อ่านละเอียด

ต่อให้เราอ่านหนังสือเดือนละ 10 เล่ม ถ้าเราไม่ทำ Output เลย เราจะจำไม่ได้ ไม่เข้าใจลึกซึ้ง เสียเงิน เสียเวลาเปล่า

ดังนั้นเมื่อเราอ่านหนังสือจบ 1 เล่ม ให้หยุดเพื่อทำ Output ก่อนที่จะเริ่มอ่านหนังสือเล่มต่อไป โดย Output ที่ต้องทำ มีตามลำดับดังนี้

  1. เขียน
    เขียนในสิ่งที่เราค้นพบ เขียนสิ่งที่จะลองทำตาม หรือเขียนรีวิวหนังสือเล่มนั้น
  2. เล่าให้คนอื่นฟัง อาจจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนที่ทำงานก็ได้
  3. นำสิ่งที่เราค้นพบไปปฏิบัติ
  4. สอนผู้อื่น

เมื่อเราทำตามนี้หลังอ่านหนังสือเล่มนึงจบ เราก็จะได้ความรู้ติดตัวแล้ว หลังจากนั้นค่อยเริ่มอ่านหนังสือเล่มต่อไป

ดังนั้นอย่าตั้งเป้าที่การอ่านหนังสือให้ได้มาก ๆ แต่ให้อ่านอย่างละเอียด ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง อธิบายได้ รีวิวได้ หรืออภิปรายเรื่องนั้น ๆ กับผู้อื่นได้

วิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราอ่านอย่างละเอียด คือ คิดไว้ก่อนอ่านหนังสือว่าเราจะเขียนรีวิวหรือจะอธิบายให้คนอื่นฟัง

เมื่อเราฝึกอ่านโดยละเอียดจนชำนาญแล้ว ค่อยอ่านให้เร็วหรืออ่านให้เยอะทีหลัง

เทคนิคหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการอ่านให้อ่านเร็วและอ่านได้ละเอียดขึ้น คือ “การอ่านข้ามไปมา”

การอ่านข้ามไปมา เหมาะสำหรับหนังสือทั่วไป หนังสือธุรกิจ แต่ไม่เหมาะกับหนังสือนิยายหรือการ์ตูน

การอ่านข้ามไปมาเริ่มที่การดูสารบัญ เลือกเรื่องที่อยากรู้ แล้วเริ่มอ่านจากส่วนนั้น

ซึ่งเมื่ออ่านแบบข้ามไปมา ให้เราเน้นที่

  • ส่วนท้ายของแต่ละบท
  • บทนำ
  • บทส่งท้าย
  • บทสรุป (มักอยู่ครึ่งหลังของหนังสือ)

เมื่ออ่านแบบข้ามไปมาเสร็จแล้ว เราจะเข้าใจภาพรวมของหนังสือ จากนั้นค่อยกลับมาอ่านตั้งแต่หน้าแรกจนจบอีกครั้ง ผู้เขียนบอกว่าการทำแบบนี้จะช่วยให้เราอ่านละเอียดและอ่านเร็วขึ้นถึง 2 เท่า นอกจากนี้ยังช่วยกำจัด “การดองหนังสือ” ได้ด้วย

การเลือกหนังสือ

ผู้เขียนแบ่งหนังสือตามคุณค่าเป็น 2 แบบ คือ

  1. หนังสือโฮมรัน
    หนังสือที่มีเนื้อหาให้เราค้นพบเยอะ ช่วยเราพัฒนาตนเองและเปลี่ยนแปลงชีวิตได้เยอะ
  2. หนังสือสไตรก์
    หนังสือที่แทบไม่มีอะไรให้เราค้นพบ ไม่ช่วยให้เราพัฒนาตนเองเลย

ผู้เขียนบอกว่าการ “เลือกหนังสือ” สำคัญกว่า “วิธีอ่านหนังสือ” เสียอีก เราจึงต้องลดหนังสือสไตรก์เพื่อเพิ่มโอกาสในการเจอหนังสือโฮมรัน

สำหรับมือใหม่ เมื่อรู้ว่าเราอยากอ่านหนังสือเพื่อพัฒนาตนเองในด้านไหน หรือแก้ปัญหาอะไรแล้ว ควรเริ่มจากหนังสือที่นักอ่านหรือผู้เชี่ยวชาญแนะนำ และควรเลือกให้เหมาะกับระดับของเราด้วย มือใหม่ควรเริ่มที่หนังสืออ่านง่าย ๆ เมื่อเราชำนาญแล้วก็ขยับไปอ่านเล่มที่ยาก ๆ ได้

นอกจากนี้การเลือกหนังสือ เราควรอ่านอย่างเป็นกลางและสมดุล คือ เมื่อเราศึกษาในเรื่องใด เราควรเลือก

  • หนังสือเป็นกลาง
  • หนังสือที่เราเห็นด้วย
  • หนังสือที่เราเห็นต่าง

แต่ถ้าไม่มีเวลา ให้อ่านแค่ “หนังสือที่เราเห็นด้วย ” และ “หนังสือที่เราเห็นต่าง” ก็พอ

ก่อนที่จะอ่าน เราต้องทำสมองให้ว่าง ไม่เอนเอียงไปด้าน เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย หรือชอบ/เกลียด ซึ่งคนทั่วไปอาจทำไม่ได้เพราะมี “Confirmation Bias หรือ ความลำเอียงเพื่อยืนยัน” กับสมมติฐานหรือความเชื่อที่มีอยู่แล้ว

เมื่อเราอ่านทั้ง “หนังสือที่เราเห็นด้วย ” และ “หนังสือที่เราเห็นต่าง” แล้ว เราจะพิจารณาเรื่องนั้นได้อย่างสมดุล

การอ่านนิยาย

ประโยชน์ของการอ่านหนังสือนิยาย คือ

  1. ทำให้กลายเป็นคนรักการอ่าน เพราะหนังสือนิยายให้ความสนุก ความบันเทิง “คนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือควรเริ่มจากการอ่านนิยาย
  2. ทำให้หัวดีขึ้น เพราะสมองได้รับการกระตุ้นมากขึ้นจากการอ่านหนังสือ
  3. ทำให้รู้จักเข้าอกเข้าใจผู้อื่น เพราะการอ่านนิยายเราต้องใช้อารมณ์ร่วมกับตัวละคร
  4. ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ จากการต้องนึกภาพตาม
  5. ช่วยคลายความเครียด
  6. ทำให้เราลองสมมติตัวเองเป็นคนอื่น ช่วยให้เราเรียนรู้ผ่านชีวิตตัวละครในนิยาย
  7. สนุก

ซึ่งหนังสือนิยายและการ์ตูนก็เป็นหนังสือประเภทหนึ่งที่เหมาะกับการอ่านเป็น e-book อีกด้วย

e-book

ใครที่อ่านหนังสือเดือนละหลายเล่ม อาจลองอ่านแบบ e-book ดู เพราะว่า

  • ราคาถูกกว่าหนังสือแบบเป็นเล่ม
  • ซื้อง่าย ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องรอ ซื้อแล้วอ่านได้ทันที
  • ไม่ใช้พื้นที่เก็บ
  • พกพาได้มากกว่า

แต่หนังสือเป็นเล่มก็ยังมีบางอย่างที่ดีกว่า เช่น

  • จดจำได้ง่ายกว่า (จากงานวิจัย)
  • อ่านง่ายกว่า
  • มีสมาธิสูงกว่า
  • อ่านแบบข้ามไปมาได้ง่าย
  • ไฮไลต์และเขียนแทรกได้ง่าย เพิ่มประสิทธิภาพการอ่าน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.