Categories
ธุรกิจ

บทบาท HRM ของ CEO – กรณีศึกษาที่ 1

โรงงานขนาดกลางในจังหวัดสมุทรปราการ มีการจ้างแรงงานรายวันด้วยการให้ทำงานติดต่อกัน ตลอดทั้งเดือนโดยมีวันหยุดวันเดียว  ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ และจ่ายค่าจ้างโดยเอาวันทำงาน 29 หรือ 30 วันในเดือนนั้น ๆ คูณด้วยอัตราค่าจ้างรายวันของแต่ละคน ไม่มีการจ่ายค่าจ้างสองเท่าสำหรับการมาทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ งานที่ทำก็เป็นงานการผลิตธรรมดา ๆ ไม่ใช่ลักษณะ หรือสภาพของงานที่ต้องทำติดต่อกัน หรือถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน ไม่ใช่กิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล หรือกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง  เพียงแต่เจ้าของโรงงานมีความประสงค์ดีอยากให้ลูกน้องขยันทำงานเยอะ ๆ และมี     รายได้เยอะ ๆ
พอผมทราบเรื่องก็ตกใจ แนะนำให้เจ้าของโรงงานจ่ายค่าแรง  2  เท่าของอัตราค่าจ้างสำหรับการทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือมิฉะนั้นก็ต้องจัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ โดยทำ 6 วัน หยุด       1 วัน ทุกสัปดาห์  เจ้าของโรงงานเลือกข้อหลัง

มีการประชุมแจ้งเรื่องให้พนักงานทราบ ก็มีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วย และข้อโต้แย้งจากพนักงานส่วนใหญ่ว่า ถ้ารายได้ขาดหายไป  3  วันต่อเดือน จะไม่พอกินพอใช้ แล้วแจงเหตุผลให้ฟังว่า มีภาระเสียค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,500.- บาท ผ่อนส่งตู้เย็น, ทีวี, วีซีดี, ดีวีดี, โฮมเธียร์เตอร์ ต้องเลี้ยงดูพ่อ แม่ ส่งเสียน้อง, ลูก, หลาน เรียนหนังสือ

เลยต้องอธิบายให้เข้าใจว่า สิ่งที่พูดมาทั้งหมดเป็นรายจ่าย หรือค่าใช้จ่ายของคนที่มีรายได้ระดับหนึ่ง ซึ่งมากและเพียงพอ แต่การรับค่าจ้างรายวัน ๆ ละ 170 บาท  แล้วจ่ายค่าเช่าบ้านวันละ  50  บาทนั้นมากไป น่าจะจ่ายไม่เกิน  20  บาท (600  บาทต่อเดือน)  ซึ่งยังพอหาหอพักราคาระดับนี้ได้ในบริเวณใกล้เคียงโรงงาน หรือถ้าตัวคนเดียวก็เช่าอยู่ร่วมกับเพื่อน ก็เฉลี่ยค่าใช้จ่ายลงได้อีก

และตั้งข้อสังเกตว่า พนักงานที่ทำงานตามโรงงานทุกวันนี้ 80% ยิ่งทำยิ่งจน  เหตุเพราะ  “ใช้เงินไม่เป็น” ส่วนใหญ่ยึดเอาความจำเป็นของรายจ่ายเป็นหลัก แล้วพยายามหารายได้มาเพื่อให้พอจ่าย      แข่งกันพกบัตรอิออน อีซี่บาย เพาเวอร์บาย  ผ่อนทุกอย่างที่ขวางหน้าจนเกินกำลัง  เกิดหนี้สินล้นพ้นตัว  วิธีนี้แค่คิดก็จนแล้ว

ส่วนอีก 20% ที่อยู่ดีมีสุข มีเงินเหลือกินเหลือใช้เพราะ “ใช้เงินเก่ง” โดยถือเอารายรับเป็นหลัก แล้วจัดสรรปันส่วน เป็นรายจ่ายที่จำเป็น ซึ่งก็คือปัจจัย 4 ของการดำรงชีวิต ตัดเอาภาระค่าใช้จ่ายที่        ไม่จำเป็นออกให้มากที่สุด แต่กันเอาส่วนหนึ่งเป็นเงินค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉิน และเงินเก็บออม โดยเปิดบัญชีเงินฝากประจำไว้กับธนาคาร กลุ่มนี้จะเหลือกิน เหลือเก็บ และไต่ระดับไปสู่ผู้มีอันจะกินในที่สุด

อีกประการหนึ่งก็ต้องขยันหมั่นเพียร ฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีทักษะฝีมือ เป็นฝีมือแรงงานที่มีรายได้จาการทำงานเพิ่มมากขึ้น

ผมซักซ้อมทำความเข้าใจจนแน่ใจว่าเข้าใจกันเป็นอย่างดีแล้ว ด้วยสังเกตเห็นสีหน้ายิ้มแย้ม    แจ่มใส และพอใจกันทั่วถ้วน  เลยฝากการบ้านทั้ง  2  ย่อหน้าข้างบนให้กลับไปคิดและลองทำดู จะได้เปลี่ยนข้างจาก 80% มาอยู่ฝ่าย 20% และเลิกจนกันเสียที พนักงานหลายคนมาบอกว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังที่ไหนมาก่อนเลย พอใจ ดีใจ และพร้อมที่จะกลับไปลองทำดูตามที่บอกในทันที

จึงถือว่าเสร็จสิ้นภาระกิจในการสางปัญหาให้สังคมงานไปได้อีกชั้นหนึ่ง

การ  EDUCATE  พนักงานให้มีแนวคิด พฤติกรรม และวินัยการใช้เงินที่ดี ถูกต้องตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน เป็นส่วนหนึ่งในหน้าที่ของ CEO

โดย คุณบำรุง  รามศรี
ที่ปรึกษาสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย

ที่มา: http://www.muslimthai.com/main/1428/content.php?category=110&id=10634

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.